วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 8

ตอนที่ 8....ศูนย์กลางจักรวาล
      ตามตำนานพุทธศาสนาหินยานเล่าว่าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูตรทรงดำเนิน 7 ก้าวแต่ละก้าวมีดอกบัวรองรับพระบาท ส่วนตำนานแห่งมหายานกลับมีเรื่องราวแตกต่างกันไปโดยเล่าว่าเจ้าชายสิทธัตถะยกพระหัตถ์ขวาชี้ฟ้า หัตถ์ซ้ายชี้ดินแล้วเปล่งพระวาจาว่า "ท่ามกลางฟ้าดิน เราเป็นใหญ่" ตำนานทั้งสองฝ่ายคงไม่มีใครเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์เช่นนี้จริงๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ย่อมมีสภาพเฉกเช่น เดียวกับมนุษย์ทั้งปวง แต่ทั้งสองตำนานมีความประสงค์เพียงเพื่อแสดงปริศนาธรรมเป็นเครื่องส่งเสริมพุทธบารมีเท่านั้นเอง ปริศนาธรรมที่กล่าวว่า "ท่ามกลางฟ้าดิน เราเป็นใหญ่" นั้นความหมายที่พิเคราะห์กันในภายหลังล้วนชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่ามนุษย์เป็นหนึ่งในจักรวาล เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งเหมือนอย่างที่ท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ว่า   "สรรพสิ่งล้วนมาจากธรรมญาณทั้งสิ้น" ความว่างเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง หากปราศจากความว่างเสียแล้ว ดวงดาวในจักรวาลมิอาจสร้างขึ้นมาได้เลย สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้นั้นเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ มีอานุภาพสร้างสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นมากมาย เหมือนอย่างที่ท่านเหลาจื้อพูดถึง เต๋า ว่า"เต๋า อยู่นิ่งๆ ไม่เกิดสรรพสิ่ง แต่พอเต๋าขยับตัว สรรพสิ่งจึงเกิดขึ้น"
เต๋า คือ ธรรมะ สภาพเดิมเป็นความว่าง ไม่มีสรรพสิ่งอะไรอยู่เลยเหมือนกับ ลมพายุทอนาโด นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองด้วยการบินทะลุเข้าไปสู่ศูนย์กลางของทอนาโด ปรากฎว่าเรือบินมิได้ขยับเขยื้อนเลย แต่รอบความว่างของพายุทอนาโดกลายเป็นแรงพลังมหาศาลทำลายทุกอย่างได้ชั่วพริบตา เหมือนอย่างสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อยู่นิ่งๆ เป็นความว่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอขยับตัวคือ เริ่มต้นคิด จึงเกิด เรือบิน รถยนต์ รถไฟ ตู้เย็น พัดลม ทีวี โทรศัพท์ เป็นต้น โลกนี้ก้าวหน้าไปไกลแค่ไหนก็ล้วนแต่ไหลออกมาจากสภาวะ "ธรรมญาณ" ขยับตัวกลายเป็นจิตคิดและ "จิต" ตัวนี้จึงเป็น อนิจจังนั่นเอง เมื่อท่านฮุ่ยเหนิง กราบเรียนถามพระอาจารย์หงเหยิ่นว่าควรจะเดินทางไปที่ใดซึ่งได้รับคำตอบว่า "จงหยุดอยู่ที่ตำบล ไฮว๋ แล้วซ่อนตัวแต่ผู้เดียวที่ตำบล ฮุ่ย"
      พระอาจารย์หงเหยิ่น เดินทางเป็นเพื่อนท่านฮุยเหนิงมาจนถึงจิ่วเจียง และลงเรือลำหนึ่งโดยพระอาจารย์หงเหยิ่นแจวเรือด้วยตนเองท่านฮุ่ยเหนิงจึงขอร้องให้นั่งลงโดยจะแจวเรือเอง แต่พระอาจารย์หงเหยิ่นกลับกล่าวว่า "เป็นหน้าที่ของเราแต่ผู้เดียวที่จะพาท่านข้ามไป"  "เมื่อกระผมยังตกอยู่ในอำนาจแห่งโมหะท่านอาจารย์จึงมีหน้าที่พากระผมข้ามไป แต่บัดนี้กระผมได้บรรลุธรรมจึงควรข้ามด้วยตนเอง" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบพระอาจารย์หงเหยิ่นแล้วอธิบายต่อไปว่า  "กระผมได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ ได้รับมอบธรรมะ แปลว่ากระผมได้บรรลุธรรมแล้ว จึงมีหน้าที่พาตัวเองข้ามไปให้พ้นจากทะเลแห่งความเกิด-ตายด้วยการเห็นแจ้งในธรรมญาณของตนเองแล้ว" คำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงเป็นการชี้ให้เห็นสัจธรรมแห่งการพึ่งตัวเองอย่างแท้จริง โดยอาศัยการรู้แจ้ง "ตัวจริง" จึงสามารถเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ แต่บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมที่มิได้เห็นแจ้งใน "ธรรมญาณเดิม" จึงไม่อาจพึ่งพาตัวเองให้พ้นจากวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์ได้เลย ล้วนต้องพึ่งพาผู้อื่นเสมอไป พระอาจารย์หงเหยิ่น กล่าวรับรองคำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงและพยากรณ์ว่าต่อจากนี้ไปอาศัยท่านฮุ่ยเหนิงเป็นเหตุ พุทธศาสนาจะแผ่ไปกว้างใหญ่ไพศาลนัก
 การรู้แจ้ง "ธรรมญาณ" แห่งตนจึงตกอยู่ในสภาวะศูนย์กลางแห่งจักรวาล เพราะ "ธรรมญาณ" เดิมมีต้นกำเนิดมาจากศูนย์พลังแห่งธรรมชาติซึ่งหาขอบเขตแห่งความสิ้นสุดมิได้ และหาเส้นผ่าศูนย์กลางในจุดเล็กๆ ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าไม่ถึงสภาวะแห่งธรรมญาณของตนเองจึงกลายเป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยอุปาทานเพราะยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวงจึงขาดความเป็นอิสระที่แท้จริงไม่อาจพึ่งพาตนเองได้เลย การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงอาศัยคัมภีร์ทั้งปวงและเพรายึดคัมภีร์จึงกลายเป็นเหตุมีความเห็นแตกต่างกันจนทะเลาะวิวาทแตกแยกเป็นนิกายร้อยแปดต่างผูกมัดรัดรึงตนเองอยู่กับความเชื่อที่ตำราเหล่านั้นบ่งชี้ไว้โดยเห็นเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เลย แต่บางรายก็ตีความตามอารมณ์ปรารถนาของตนฝ่ายเดียวและยึดถือว่าถูกต้อง ใครมีความเห็นแตกต่างกลายเป็นศัตรูอันทำลายให้ย่อยยับลงไปความเห็นแก่ตัวเยี่ยงนี้จึงมิใช่ธรรมะ  อักษรจีนคำว่า "เต๋า" มีความหมายล้ำลึกดังนี้ / หมายถึง ชั่ว หรือลบ / หมายถึง ดีหรือบวก รวมเป็น หนึ่ง จึงไม่มีทั้งดีและชั่วและอยู่ที่หัว ของตนเอง และต่างต้องเดินไปด้วยตนเอง การพึ่งตัวเองจึงมีความหมายชัดเจนว่า สภาวะจิตเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลเมื่อใดเมื่อนั้นแหละจึงเป็นที่พึ่งแห่งตนและชนทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น