วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 37

ตอนที่ 37.... นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ
      พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดูเหมือนมีความเชื่ออย่างเด็ดขาดมั่นคงว่า วิธีบำเพ็ญให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงจนบรรลุมรรคผลนิพพานต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ "นั่งสมาธิ" และยังเชื่อกันต่อไปว่า เป็นการปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธองค์สรรเสริญกิจกรรมสมาธิ จึงบานสะพรั่งเต็มเมืองไทย
วัดไหน อาจารย์ไหนไม่รู้เรื่องสมาธิ
วัดนั้นอาจารย์นั้นล้าหลังหาความเจริญรุ่งเรืองมิได้
      "สมาธิ" จึงกลายเป็น "พุทธพานิชย์" อีกแบบหนึ่งซึ่งสร้างความร่ำรวยให้แก่วัดและอาจารย์เหล่านั้นที่กำหนดรูปแบบสมาธิขึ้นมาแล้วยืนยันว่าเป็นวิธี ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อกันมา
และในที่สุดอาการ "งมงายสมาธิ" หรือ "สมาธิแบบงมงาย" จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัตินั้นยังเร่าร้อน ลุ่มหลง โทสจริต โมหาคติ ยังแรงกล้า
ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบงมงายจึงเต็มไปด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นและก่อกรณีรุนแรงร้าวฉานขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น
      ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบรู้แจ้ง จิตใจเบิกบาน ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงได้ ชีวิตดำเนินไปด้วยปัญญา ความสงบสันติในตัวเองและผู้อื่นจึงปรากฏขึ้น
สมาธิ จึงมีอยู่สองวิธี คือ "มิจฉาสมาธิ" เป็นสมาธิที่หลงงมงายไม่สามารถพาให้จิตญาณของตนพ้นเวียนว่ายตายเกิด แม้มีอิทธิฤทธิ์มากมายแค่ไหนก็ไม่อาจพ้นนรก
"สัมมาสมาธิ" เป็นสมาธิที่พาให้จิตญาณพ้นไปจากความหลงงมงาย และดำรงตนมั่นอยู่ในสัจธรรมอันเป็นผลมาจากปัญญาที่มีกำลังกล้าแข็งตัดความทุกข์ได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้ในพระสูตร "ว่าด้วยสมาธิและปัญญา" ว่า
"ในระบบคำสอนของอาตมา สมาธิปัญญา นับเป็นหลักสำคัญแต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าธรรมะสองข้อนี้แยกจากกันเป็นอิสระ เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้และมิใช่ของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง"
ความหมายแห่งคำสอนนี้ถ้าเอา "น้ำ" มาเปรียบเทียบจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำ มีคุณสมบัติเด่นคือ ความเย็น และเหลวเราไม่อาจแยก "เหลว" ออกจาก "น้ำ" ได้ ฉันใด สมาธิ และปัญญาก็แยกจากกันมิได้ฉันนั้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้วอย่างชัดเจนว่า
"สมาธิ นั่นแหละคือ ตัวจริง ของปัญญา ในเมื่อปัญญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตังของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปัญญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือกล่าวกลับกันว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปัญญาดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักดังนี้ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปัญญา
ผู้ศึกษาไม่ควรไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันระหว่างคำว่า "สมาธิทำให้เกิดปัญญา" กับคำว่า "ปัญญาทำให้เกิดสมาธิ" การถือว่าความเห็นแยกกันได้นั้นย่อมสำแดงว่ามันมีอะไรแตกต่างเด่นๆ รู้ถึงสองฝักสองฝ่ายในธรรมะนี้"
      พุทธศาสนิกชนที่ศึกษาสมาธิของพระพุทธศาสนาต่างมีความเชื่อว่า สมาธิ และ ปัญญา เป็นเรื่องที่แยกจากกันและเป็นคนละส่วนกันแต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพราะเราเชื่อกันตามที่อรรถาจารย์ได้ตีความและแยกแยะออกมาว่า การปฏิบัติธรรมต้องมี "ศีล สมาธิ ปัญญา"
เพราะความเชื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดอาการงมงายกันคนละแบบ
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งศีลนกลายเป็น "บ้าศีล"
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งสมาธิจนกลายเป็น "สมาธิบ้า"
บางสำนัก บางอาจารย์ก็หลงไหลปัญญา จนกลายเป็น "ยโสโอหังมมังการ"
      "อาการบ้าศีล" มิได้มีแต่ในปัจจุบันสมัยเท่านั้น แม้แต่อดีตกาลคนบ้าศีลก็ปรากฏอยู่ทั่วไป คนเหล่านี้ไร้ปัญญาพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม เมื่อสมาทานศีล "ปาณาติปาตา" เว้นจากการฆ่าสัตว์น้ำก็ดื่มไม่ได้เพราะในน้ำมีชีวิตสัตว์ อากาศมีเชื้อโรคหายใจเข้าไปก็ฆ่าเชื้อโรค ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น คนบ้าศีล จึงอยู่ในโลกนี้ และตายไปความทุกข์ทรมาน
อาการ "สมาธิบ้า" นับว่าอันตรายที่สุด เพราะนั่งกันจนเพลิดเพลินหลอกหลอนตัวเองงว่าได้พบ สวรรค์วิมาน ระลึกชาติได้ พบพระพุทธองค์ขนาดได้นั่งฟังพระพุทธองค์เทศนาให้ฟังจนบรรลุมรรคผลนิพพาน
เมื่อสำเร็จเป็นอรหันต์จึงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ต้องตายภายใน 7 วัน คนบ้าสมาธิจึงพากันฆ่า ลูก ฆ่าเมีย และตัวเองตายตกนรกไป
      ส่วนคน "บ้าปัญญา" ก็ไม่อาจแยกแยะให้เห็นสัจธรรมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ตามที่อาจารย์บอกเล่าแลยึดแต่คำสอนของอาจารย์เป็นสรณะ คำสอนอื่นๆ ไร้สาระ
คนบ้าปัญญาไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง "ความรู้" กับ "ปัญญา" เพราะฉะนั้นจึงมีอาการน้ำล้นแก้ว ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นเลย
ความจริงแล้ว "สมาธิ" และ "ปัญญา" ถ้าเข้าใจความสมดุลย์ถูกต้องย่อมยังประโยชน์มหาศาลแก่มนุษย์ แต่เพราะความเข้าใจผิดชีวิตของผู้ปฏิบัติสมาธิจึงมีความมืดอยู่ในความสว่าง เพราะเราพากันนั่งเฝ้าก้อนเนื้อกันมานานแล้วนานแสนนานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ แก่ตัวเองและผู้อื่นเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น