วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 40

ตอนที่ 40.... หลอกตัวเอง
      การนั่งสมาธิอาจนำไปสู่การหลอกตัวเองได้ง่ายๆ แต่ถอนออกจากอุปาทานคือการยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่จิตตนเองสร้างเอาไว้นั้นเป็นเรื่องยากที่สุด
ฤาษีจึงหลงติดอยู่ในญาณสมาบัติจนสำเร็จขึ้นไปเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม นับเป็นแสนกัลป์ ครั้งเสื่อมจากญาณก็ต้องจุติตกลงมาเกิดกายในภูมิวิถีหก ชาติกำเนิดสี่อีกเช่นกัน
      สมัยที่พระพุทธองค์ทรงฝึกฝนเข้าฌาณกับพระอาจารย์สององค์คือ อุทกดาบส และอาฬารดาบส จึงทรงรู้ได้ด้วยปัญญาของพระองค์ว่ามิใช่หนทางแห่งการหลุดพ้นเวียนว่ายตายเกิดอย่างแท้จริง พระพุทธองค์จึงทรงละวิธีนั้นเสียโดยปฏิเสธคำเชิญชวนของอาจารย์ทั้งสองให้รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนสมาธิ ฌาณสมาบัติ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงททรงบัญญัติและปฏิบัติสัมมาสมาธิ ซึ่งย่อมมีภาวะแตกต่างไปจากมิจฉาสมาธิอย่างแน่นอน หากเป็นอย่างเดียวกันไหนเลยจักต้องลำบากค้นหาหนทางสายกลางและบัญญัติออกมาเป็นมรรคมีองค์ 8 เล่า
หลักฐานปรากฏชัดเจนว่าภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ "ธรรมญาณ" แล้วพระองค์มิได้นั่งสมาธิเฉกเช่นฤาษีอีกต่อไปคือพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะการนั่งเข้าญาณสมาบัติ ย่อมไม่อาจมีคำสอนใดๆ ถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลังได้เลย
แต่ตลอดระยะเวลา 47 พรรษา พระพุทธองค์เสด็จโปรดเวไนยสัตว์ มีเวลาพักผ่อนวันละไม่เกินสามชั่วโมง
ใน "วิมลกีรตินิเทศสูตร" ได้กล่าวเอาไว้ตอนที่พระสารีบุตรนั่งเงียบๆ ท่านวิมลกีรติกล่าวว่า
      "เมื่อกล่าวถึงการนั่งเงียบๆ แล้วมันควรจะหมายถึงว่าเขาไม่เกิดในโลกทั้งสามอีกต่อไป มันควรจะหมายถึงว่าขณะที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินั้น เขาก็สามารถทำการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางกายได้เช่น การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ฯลฯ มันควรจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องหันเหออกจากทางแห่งบัญญัติ เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางวิสัยโลกได้มันควรหมายถึงว่า เขาคอยอยู่ข้างในก็หามิได้ ข้างนอกก็หามิได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการอยู่ โดยปราศจากความหวั่นไหวด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ มันควรจะหมายถึงว่าโดยไม่ต้องมีการทำลายล้างกิเลสอีกต่อไป เขาก็สามารถเข้าถึงนิพพาน
      ผู้ที่นั่งได้เช่นนี้แหละจะได้รับความรับรองจากพระพุทธเจ้า"
ถ้อยความในพระสูตรนี้ ยืนยันได้ว่า การนั่งเงียบๆ โดยไม่ไหวติงแม้ในจิตของตนเองนั้นเป็นการนั่งเงียบแบบก้อนหิน
แต่การนั่งสมาธิอย่างที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ สภาวะแห่งจิตยังมีโอกาสเกิดในสามภพอีกกล่าวคือ ยังมีความรู้สึกติดอยู่ในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ
อารมณ์ของกามภพคือ รัก-เกลียด โกรธ-หลง
อารมณ์ของรูปภพคือ ติอยู่ในรูปลักษณ์ทั้ง รูปธรรมและนามธรรม
อารมณ์ของรูปภพคือ ติดอยู่ในรูปของความว่างโดยไม่รู้ตัว
สมาธิอย่างที่รู้ตัวทั่วพร้อมตั้งมั่นรับรู้ผัสสะทั้งปวง สามารถตัดอารมณ์ที่มากระทบได้ทันทีที่บังเกิดขึ้นนั่นแหละ เป็น สัมมาสมาธิ
      ส่วนการนั่งหลับตาทำสมาธิอย่างที่นิยมกัน มักมีภาพนิมิตให้หลงใหลจนกลายเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง และน่าเสียหายนักผู้ที่ติดไม่รู้ตัวว่าได้ติดร่างแหแห่งความงมงายไปเสียแล้ว
มีผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งพื้นฐานทางโลกจบปริญญาเอก อาชีพเป็นอาจารย์ บรรยายวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านชอบนั่งสมาธิจนกระทั่งฝึกถอดจิตได้เห็นกาายเนื้อของตนเองนั่งหลับตาเหมือนท่อนเนื้อ
ภรรยาสุดที่รักของท่านเสียชีวิตด้วยโรคร้าย
      ท่านมีความรักและผูกพันกับภรรยามากแต่ท่านก็สามารถแก้ไขปัญหาความคิดถึงด้วยการถอดจิตไปคุยกับภรรยาบ่อยๆ นับเป็นเดือนเป็นปี
ปัญหาที่สงสัยกันคือ ท่านอาจารย์ผู้นี้พบกับวิญญาณของภรรยาจริงๆ หรือไม่
คำตอบนี้น่าจะเป็นการแก้ข้อสงสัยได้ดีที่สุดคือ ทุกชีวิตที่พ้นไปจากกายสังขารนี้แล้วย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง ถ้าเป็นกุศลปัจจัยก็ไปสู่สุขคติ
ถ้าเหตุเป็นอกุศลก็ไปสู่ทุกขสติ ถ้าวิญญาณภรรยาผู้นี้ยังคงมาคุยกับสามีอยู่เสมอๆ เธอก็ไม่ตกอยู่ในกฎแห่งการเวียนว่าย
และอีกเรื่องหนึ่งน่าเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการนั่งสมาธิถอดจิตนั้นมีผลเป็นอย่างไร
ชายหนุ่มคนหนึ่งมีความรักต่อภรรยาของตนอย่างสุดซึ้ง แต่ภรรยากำลังป่วยหนักใกล้ตาย จึงขอคำมั่นสัญญาจากสามีว่า ชาตินี้จะเป็นเธอคนเดียวตลอดชีวิต แม้ชีวิตเธอจะหาไม่แล้วก็จักไม่แต่งงานใหม่ ถ้าผิดสัญญาเธอจะมาอาละวาด
เมื่อชายหนุ่มสูญสิ้นภรรยาไปแล้ว เขาก็รักษาคำมั่นสัญญาไม่ข้องแวะกับสตรีใดเลย จวบจนเวลาล่วงเลยไปหนึ่งปี ชายผู้นี้จึงพบกับหญิงสาวสวยรายใหม่ จิตใจของชายผู้นี้หวั่นไหว และเห็นว่าภรรยาตายไปนานแล้วจึงจัดการมั่นหมาย
      ครั้นตกกลางคืน ผีภรรยาจึงมาปรากฏแล้วต่อว่าต่อขานอย่างรุนแรงจนสามีหมดปัญญาไม่ว่าจะก้ตัวอย่างไร ผีภรรยาก็ไล่ต้อนจนมุมได้ทุกทีไปทั้งๆ ที่สมัยเป็นคนไม่มีสติปัญญาเอาเสียเลย ชายหนุ่มจนหนทางได้แต่ตรอมตรมใจผ่ายผอม เพราะผีภรรยามารบกวนอยู่ทุกคืน จนกระทั่งญาติพี่น้องต้องพาไปหาหลวงพ่อซึ่งบำเพ็ญปฏิบัติอยู่บนภูเขา
หลังจากหลวงพ่อซักไซร้ไล่เลียงกันแล้วจึงมอบถั่วเหลืองให้หนึ่งทะนนานแล้วสั่งว่า
"คืนนี้เมื่อผีมาก็ให้ถามว่าเจ้าเป็นผีรู้ทุกอย่างใช่ไหมแล้วจงกำถั่วเหลืองให้ผีเมียเจ้าทาย แล้วเจ้าก็จะรู้อะไรเป็นอะไร"
ครั้นตกกลางคืนผีภรรยาก็มาตามเคย สามีก็ยกย่องถึงความฉลาดของผีและถามว่า
"เธอรู้ทุกอย่างใช่ไหม"
"อ๋อ แน่นอน ตอนกลางวันพี่ขึ้นไปหาหลวงพ่อ น้องก็รู้"
"ถ้ายังงั้นเธอลองทายซิว่า ในกำมือของพี่มีถั่วเหลืองกี่เม็ด"
      ผีงงงันตอบไม่ถูกและทันใดนั้นก็หายวับไปกับตาซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันที่ดวงตาของชายหนุ่มทอแสงเจิดจรัส เพราะเข้าใจชัดเจนว่าแท้ที่จริง ผี ที่มาหาทุกคืนก็คือสิ่งที่จิตสร้างเอาไว้หลอกตัวเอง
บางสำนักขยันถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังแดนนิพพานและโด่งดังถึงขนาดยกขบวนญาติโยมขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันทีเดียว
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ไปเฝ้าใครกันแน่ พระพุทธะ หรือ พระยามาร
ครั้งที่พระพุทธศาสนาล่วงมาแล้ว 200 ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งชมพูทวีปมีพระราชศรัทธาสร้างพระสถูปเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์ แต่กริ่งเกรงว่าพระยามาร วสวัตตี จักมารังควานจึงทรงปรึกษากับพระเถระทั้งปวงว่าควรป้องกันอย่างไรดี
      พระเถระมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรไปนิมนต์พระกีสนาอุปคุตเถระซึ่งตามพุทธพยากรณ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"ภายหน้าจักมีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่าอุปคุตเถระ จักปราบพระยามารให้ละพยศ พ่ายแพ้แล้วจะกล่าวปฏิญาณปรารถนาพุทธภูมิ"
      ครั้งพระยามารวสวัตตีลงมากลั่นแกล้งในกองบุญครั้งนี้จึงต่อสู้กับพระอุปคุตด้วยสามารถจนพ่ายแพ้ถูกพระอุปคุตใช้ประคตวิเศษผูกพระยามารไว้กับภูเขาลูกหนึ่งจนสิ้นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน พระยามารร่ำรำพันด้วยความคับแค้นใจจนประกาศก้องว่า
"หากบุญกุศลที่สั่งสมไว้ ในเบื้องหน้าจักมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนี้ ขอถึงซึ่งการเป็นพระพุทธเจ้า อันจักได้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งปวง"
      พระอุปคุตเถระได้ยินดังนี้จึงแก้มัดและขอให้พระยามารนิรมิตกายเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อชมบุญ "ถ้าข้าพเจ้านิรมิตแล้วพรคุณเจ้าอย่าได้ไหว้เพราะจักเป็นบาปแก่ข้าพเจ้า"
ครั้นพระยามารแปลงกายเป็นพระพุทธเจ้า พระอุปคุตเถาระยังก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ถวายสักการะบูชา
เพราะฉะนั้นการถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอาจหลงไปเฝ้าพระยามาร
      การเห็นรูปลักษณ์ททั้งปวงจึงมิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์แต่กลายเป็นทุกข์หนัก เพราะจิตหลอกลวงตัวเองโดยไม่รู้ตัว จึงเปรียบเป็นการทำลายชะตาชีวิตอย่างน่าเสียดายนัก
เมื่อจิตมีความยินดีปรารถนาเสียแล้วย่อมถอนออกจากความโง่เง่าได้ยากนัก
ใครก็ตามบำเพ็ญธรรมแล้วตกอยู่ในภาวะแห่งการหลอกลวงตัวเองจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจนัก เพราะเขายึดถืออาการหลอกลวงนั้นด้วยความมั่นคงตราบชั่วชีวิตทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น