วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 5

ตอนที่ 5....ต้นโพธิ์กับกระจกเงา
      ความรู้แจ้ง "ธรรมญาณ" แห่งตนไม่อาจใช้ภาษาคนอธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจน เพราะสื่อภาษามีขอบเขตจำกัดเท่าที่มนุษย์ได้กำหนดไว้เท่านั้น แต่ภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อยู่นอกเหนือขอบเขตการกำหนดของมนุษย์ เพราะเป็นภาวะที่ปราศจากรูปลักษณ์ทั้งปวง ภาษาจึงเป็นเพียงรอยทางให้ผู้ใฝ่ใจศึกษาได้เดินตาม ส่วนรสชาติเป็นเรื่องที่แต่ละคนสัมผัสรับรู้ได้เอง แม้ใช้ภาษาอธิบายจนหมดสิ้นก็ไม่มีใครสามารถรับรสชาตินั้นได้เลย จึงเปรียบเหมือนน้ำคนไหนดื่มคนนั้นรับรู้รสชาติได้ด้วยตนเอง ท่านเสินซิ่วหัวหน้าศิษย์จึงใช้การศึกษาสะท้อนให้เห็นเป็นเพียงความรู้แต่มิได้ไหลออกมาจาก "ธรรมญาณ" เพราะฉะนั้นจึงจับจ้องว้าวุ่นใจในการเขียนโศลกถวายต่อพระอาจารย์หงเหยิ่น ด้วยไม่แน่ใจในความรู้ของตนเอง เมื่อเขียนโศลกเสร็จแล้วไม่มั่นใจจึงไม่กล้านำไปถวายพระอาจารย์ได้แต่เดินกลับไปกลับมาเสียเวลาไป 4 วันเดินเสีย 13 เที่ยว ในที่สุดก็ตัดสินใจเขียนเอาไว้บนฝาผนังช่องทางเดินทางทิศใต้ซึ่งพระอาจารย์เดินผ่านไปมาจะได้หยั่งทราบถึงปัญญาญาณที่ตนเองได้บรรลุ
ข้อความแห่งโศลกนั้นมีว่า"กายคือต้นโพธิ์ จิตคือกระจกเงาใส หมั่นเช็ดอยู่ทุกโมงยามจึงไม่มีฝุ่นละอองลงจับ"
 เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เสินซิ่วก็หามีความสุขแต่ประการใดไม่ มีแต่ความปริวิตกด้วยหวั่นเกรงว่าได้สะท้อนความไม่รู้แจ้งให้ปรากฎออกไป
แต่พระอาจารย์หงเหยิ่นรู้อยู่ก่อนแล้วว่า เสินซิ่วยังไม่ได้รับรสชาติแห่งธรรมญาณของตน จึงกล่าวแก่ หลูเจิน จิตกรเอกแห่งราชสำนักซึ่งเขียนภาพต่างๆ จากลังกาวตารสูตรและชาติวงศ์ของพระสังฆปริณายกทั้ง 5 องค์ว่า "เสียใจที่รบกวนท่าน บัดนี้ผนังเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเขียนภาพเพราะสูตรนี้ได้กล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งอันมีรูป หรือปรากฎกริยาอาการล้วนเป็นอนิจจังและมายา จึงควรปล่อยโศลกนี้ไว้บนฝาผนังเพื่อให้มหาชนได้ท่องบ่น และถ้าปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อความที่สอนไว้ เขาก็จะพ้นทุกข์ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ อานิสงส์ของผู้ปฏิบัติตามได้รับนั้นมีมากนัก" ความหมายแห่งคำพูดของพระอาจารย์หงเหยิ่นพิจารณาโศลกบทนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า สภาวะที่ปรากฎ "ความมี" ย่อมจะ "ไม่มี" ในที่สุด ต้นโพธิ์ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หรือแม้แต่จิตก็เกิดดับไม่แน่นอน การหมั่นเช็ดกระจกจึงเปรียบเสมือนการทำความดีและขจัดอาสวะกิเลส ดังนั้นทั้งกายและจิต จึงเป็นสภาวะแห่งอนิจจัง ย่อมไม่ใช่ภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันแท้จริง ในเที่ยงคืนนั้นเอง พระสังฆปริณายกหงเหยิ่น จึงเรียกเสินซิ่วเข้าไปรับทราบถึงผลแห่งการเขียนโศลกนั้นว่า "โศลกนี้แสดงว่าเจ้ามิได้รู้แจ้งใน "ธรรมญาณ" เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้ว แต่มิได้ก้าวข้ามธรณีประตู การแสวงหาหนทางแห่งการตรัสรู้อันสูงสุดด้วยความเข้าใจที่แสดงออกมานั้น ยากที่จะสำเร็จได้" ความหมายอันแท้จริงคือ การติดในรูปลักษณ์ พระอาจารย์หงเหยิ่นได้อธิบายด้วยว่า "การบรรลุ อนุตตรสัมโพธิ์ได้ ต้องรู้แจ้งด้วยใจเองใน "ธรรมญาณ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสร้างขึ้นได้ทำลายก็ไม่ได้ ชั่วขณะจิตเดียวผู้นั้นเห็นธรรมญาณก็เป็นอิสระจากการถูกขังตลอดกาล พ้นจากความหลง และไม่ว่าสภาวะรอบตัวเป็นเช่นไร ใจของตนเองก็อยู่ในสภาพของ "ธรรมญาณ" สถานะเช่นนี้แหละคือตัวสัจธรรมแท้ เป็นการเห็น "ธรรมญาณ" อันเป็นการตรัสรู้นั่นเอง" เสินซิ่วได้ฟังแล้ว จึงถึงแก่อาการงงงวยนอนนั่งไม่เป็นสุข
      การที่ภาวะจิตยังตกอยู่ในรูปและนามย่อมหวั่นไหว เพราะยังยึดอยู่ในความดีและความชั่ว หรือ "มี" กับ "ไม่มี" จึงเห็นได้ทั่วไปในหมู่ของพุทธศาสนิกชนติดอยู่กับการสร้างบุญจึงกลายเป็นเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งกันได้เสมอ สร้างบุญต้องได้หน้าตามีชื่อเสียงทำให้เกิดความฟูใจ รื่นเริงใจเมื่อเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของอนิจจัง ความทุกข์จึงปรากฎขึ้นแทนที่ เพราะไม่มีและไม่ได้บุญตามที่ปรารถนา ส่วนท่านฮุ่ยเหนิง เมื่อได้ยินโศลกนี้ก็ได้ทันทีว่าเป็นเพียงโศลกที่ยังติดข้องอยู่ในรูปลักษณ์ แม้ว่าตำข้าวอยู่ในครัวถึง 8 เดือน โดยไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ จากพระอาจารย์หงเหยิ่นเลย จึงขอให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งพาไปยังช่องกำแพงนั้นและพบกับเสมียนแห่งตำบลเจียงโจวชื่อว่าจางยื่อย่ง ให้ช่วยอ่านโศลกให้ฟัง เพราะท่านฮุ่ยเหนิงไม่รู้จักหนังสือ เมื่อเสมียนผู้นี้ได้ฟังว่าท่านฮุ่ยเหนิงมีโศลกเหมือนกันก็อุทานในเชิงดูถูกภูมิปัญญาว่า "ประหลาดแท้ ท่านก็มาแต่งโศลกกับเขาด้วย" คำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงเป็นสัจธรรมจนถึงบัดนี้ว่า
      "ถ้าเป็นผู้แสวงหาบรรลุธรรม อย่าดูถูกคนที่เริ่มต้น คนที่จัดว่าเป็นคนชั้นต่ำก็อาจมีปฏิภาณสูงได้ ส่วนคนชั้นสูงก็ปรากฎว่าขาดสติปัญญาอยู่บ่อยๆ ถ้าท่านดูถูกคนจึงจัดว่าทำบาปหนัก" เราจึงไม่อาจแบ่งคนหรือตัดสินใครๆ ได้ที่รูปลักษณ์ซึ่งแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ "ธรรมญาณ" ซึ่งมีศักยภาพเหมือนกันทุกคนและเท่าเทียมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น