วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 3

ตอนที่ 3....จิตเดิมแท้
      ธรรมญาณ" เป็นรากฐานเดิมตามธรรมชาติแท้ของจิต ยากที่จะอธิบายสภาวะนั้นด้วยภาษาคนเพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า "จิตเดิมแท้" แต่ในที่นี้เรียกว่า "ธรรมญาณ" อันเป็นญาณที่มาจากธรรมชาติดั้งเดิมแท้จึง การค้นพบภาวะ "ธรรมญาณ" ของตนเองจึงเป็นเรื่องที่ลึกล้ำและยากนัก ท่านหงเหยิ่นพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า จึงเรียกประชุมศิษย์ทั้งปวงแล้วกล่าวว่า  "การเวียนว่ายตายเกิดเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่มีใครเอาใจใส่แทนที่จะหาหนทางพาตัวเองให้พ้นไปจากทะเลทุกข์แห่งการเวียนเกิดและเวียนตายอันไม่มีที่สิ้นสุด กลับพากันหมกมุ่นอยู่แต่บุญกุศล ที่มีตัณหาชักนำอันเป็นต้นเหตุให้เกิดใหม่ ถ้าธรรมญาณยังมืดมัวอยู่ บุญกุศลทั้งปวงก็หามีประโยชน์อันใดไม่ จนตั้งใจค้นหาปัญญาของตนเองแล้วเขียนโศลกว่าด้วยเรื่องของ "ธรรมญาณ" ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า "ธรรมญาณ" นั้นเป็นอย่างไร ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่ง พระสังฆปริณายก พร้อมทั้งธรรมะอันเป็นคำสอนเร้นลับแห่งนิกายเซ็น และจะสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หกแห่งนิกายเรา อย่ามัวรีรอตรึกตรองเพราะไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์อะไร ผู้ที่รู้แจ้งชัดใน "ธรรมญาณ" จะพูดได้ทันทีที่มีใครมาชวนคุยด้วยและมันไม่เลื่อนลอยไปจากธรรมจักษุของเขา แม้จะชุลมุนวุ่นวายอยู่ท่ามกลางสนามรบก็ตาม
" วจนะของท่านหงเหยิ่นเป็นความจริงจนถึงการสมัยปัจจุบันมนุษย์ยังคงเวียนว่ายอยู่ในทะเลทุกข์โดยมิได้รู้สึกว่ากำลังจมอยู่ในห้วงทะเลแห่งการเกิดและตาย  เขาเหล่านั้นจะรู้สึกถึงปัญหานี้ ก็ต่อเมื่อความตายมาเยือนอยู่ตรงหน้า และพากันบอกหนทางโดยหวังว่าจะช่วยให้พ้นไปจากนรกอเวจีและเชื่อว่าบุญกุศลที่ได้สั่งงสมเอาไว้ทำให้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเก่า การสร้างบุญกุศลเช่นนี้กระทำได้ง่ายกว่าการใช้ปัญญาค้นคิดหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์อันเกิดจากเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์จึงมี "บุญ" และ "บาป" เป็นเหตุปัจจัยให้ไปเวียนเกิด-ตายเพื่อไปรับผลอันมาจากเหตุที่ตนเองสร้างไว้ไม่มีที่สิ้นสุด
การสร้างบุญจึงไม่ต่างอะไรกับการหาเงินฝากธนาคารเอาไว้เป็นของตน เมื่อใช้จนหมดแล้ววิถีแห่งชีวิตก็ต้องยากจนลงไปเหมือน "กินบุญ" หมดแล้วจึงไป "รับบาป" ชดใช้หนี้สินหมดแล้วจึงไป "กินบุญ" เวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่ไม่เข้าใจทุกข์แห่งการเกิดและตาย จึงทำบุญด้วยการอยากเกิดใหม่ เพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีกว่าเท่านั้นเอง วิถีแห่งชีวิตจึงไม่พ้นไปจากวัฎสงสาร เพราะตัณหาเป็นตัวชักนำ แต่พระพุทธองค์ทรงเบื่อหน่ายการเกิด-ตาย ทรงเล็งเห็นเป็นความทุกข์อันแท้จริงจึงทรงสละฐานันดรกษัตริย์ ซึ่งปุถุชนเห็นเป็นความสุขสมบูรณ์อันสูงงสุดทิ้งเสีย และทรงค้นคว้าหาหนทางที่สามารถไปพ้นจากทะเลทุกข์ ทรงลำบากตรากตรำทั้งปฏิบัติและศึกษานานถึง 6 ปี เมื่อกลางคืนวันเพ็ญเดือนหก พระพุทธองค์ทรงค้นพบ "ญาณทวาร" และ "วิถีจิต" อันเป็น "อนุตตรสัมมาสัมโพธิ"
 "ญาณทวาร" เป็นประตูวิเศษอันเร้นลับ ซึ่งพระพุทธทีปังกรเคยพยากรณ์ว่าสุเมธดาบสจักสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปน์ได้นิมิตเป็นแสงดาวสว่างวาบตรงจุดนั้น "วิถีแห่งจิต" เป็นหนทางอันตรงต่อประตูวิเศษซึ่งเป็นทางสายกลาง
 "อนุตตรสัมมาสัมโพธิ" เป็นปัญญาอันยิ่งเพราะรู้ถึง "ธรรมญาณ" ซึ่งพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดอันแท้จริง เพราะสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" นั้น มิได้ "เกิด" จึงมิได้ "ตาย" และไม่อาจนำเอาบัญญัติใดๆ ในโลกนี้มาเทียบเคียงหรืออธิบายให้ใครเข้าใจได้เลย เพราะสภาวะนั้นพ้นไปจาก "รูป" และ "นาม"
"อนุตตรธรรม" ที่พุทธองค์ตรัสรู้จึงเป็นเรื่องรับรสได้เฉพาะตนแต่เหตุไฉนตลอด 45 พรรษา พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ชี้แนะหนทางเท่านั้น ส่วนการเดินไปสู่จุดหมายปลายทางล้วนต้องประคองจิตด้วยตนเองทั้งสิ้น
และเพื่อมิได้ "อนุตตรธรรม" สูญหายไปจากโลกนี้ พระพุทธองค์ทรงถ่ายทอดประตูวิเศษนี้ไว้ด้วยวิธีอันเร้นลับ มิได้ถ่ายทอดโดยเปิดเผย สมกับคำกล่าวโบราณที่ว่า"ไม่รู้ถึงหูที่หก" สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางสงฆ์สาวกล้วนเป็นพระอรหันต์ 1,250 รูป ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แห่งกรุงราชคฤห์ และมิได้ตรัสประการใด จึงมีผู้ทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหตุไฉนวันนี้ พระองค์จึงมิได้ตรัสเทศนาโปรดเวไนยสัตว์เลย" ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งแล้วตรัสว่า "ตถาคตมีธรรมจักษุอันละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพปราศจากรูปลักษณ์ใด ๆ อยู่ในครรโภทร…" ที่ประชุมสงฆ์สาวกทั้งนั้น มีแต่พระมหากัสสปะซึ่งเป็นผู้สูงอายุหน้าตายับยู่ยี่ด้วยเร่งบำเพ็ญเพียรจนไม่เคยยิ้มเลยตลอด เวลาที่ปฏิบัติธรรมอยู่ เมื่อเห็นพระพุทธองค์ทรงแสดงรหัสตรัสเช่นนี้จึงรู้ได้ด้วยไวปัญญา พระมหากัสสปะจึงยิ้มครั้งแรกในชีวิตและแสดงกริยาก้มหน้าเป็นการตอบรับ พระพุทธองค์ทรงกล่าวต่อไปว่า "ตถาคตได้ส่งมอบธรรมะนี้แก่พระมหากัสสปะแล้ว" พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่าเป็นผู้มีปัญญาอันเลิศ จึงทรงแลกบาตรและจีวรกับพระมหากัสสปะ
 ปัญหาที่น่าพิจารณาคือบรรดาพระอรหันต์ทั้ง 1,249 รูป นั้นมิได้รู้อนุตตรธรรม เหตุไฉนจึงสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์พ้นเวียนว่ายตายเกิดได้เล่าคำตอบอยู่ที่บรรดาสงฆ์สาวกทั้งปวงล้วนปฏิบัติตรงตามทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและประคองจิตของตนเองมิได้พ้นไปจากเส้นทางสายนี้ เช่นเดียวกับพระมหากัสสปะจึงเป็นผู้ได้หนทาง แต่มิได้รู้ถึง "ทวารวิเศษ"หรือ "ประตูวิเศษ" แต่พระพุทธองค์ทรงรู้ถึง "ทวารวิเศษ"
บรรดาสงฆ์สาวกซึ่งรักษาจิตของตนเองในหนทางสายกลางย่อมเดินไปจนถึง "ทวารวิเศษ" นี้ ในวันสุดท้ายของการทิ้งกายสังขาร เมื่อพระมหากัสสปะได้รับการถ่ายทอด"ทวารวิเศษ" และประคองจิตของตนเองอยู่ในหนทางสายกลาง จึงย่อมเสมอเหมือนพระพุทธองค์ เพราะฉะนั้น บาตรและจีวรของพระพุทธองค์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการถ่ายทอด "ทวารวิเศษ ของอนุตตรธรรม" สืบต่อกันมาจนถึงพระธรรมาจารย์ หงเหยิ่น องค์ที่ห้า ในครั้งนั้นพระมหากัสสปะจึงเป็นพระธรรมาจารย์องค์ที่หนึ่งซึ่งได้รับรู้ "ประตู" ของ "ธรรมญาณ" อันเป็นหนทางแห่งอนุตตรธรรม นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น