วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 25

ตอนที่ 25.... มหาธรรมนาวา
      เหตุที่มีผู้กราบไหว้พระพุทธองค์ยาวนานจนประมาณเวลาแห่งความสิ้นสุดมิได้เพราะพระพุทธเจ้าทรงชี้หนทางแห่งการสิ้นเวียนว่ายของจิตญาณ ให้แกเวไนยสัตว์ทั้งปวงแม้ยังไปไม่พ้นจากทะเลทุกข์แต่เวไนยสัตว์เหล่านั้นได้มีโอกาสสร้างบุญสัมพันธ์กับพระพุทธองค์เป็นอเนกประการ ก่อให้เกิดกุศลจิตอันเป็นเหตุปัจจัยให้เขาเหล่านั้นได้วนเวียนเจริญอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อเสรมสร้างเหตุปัจจัยให้สมบูรณ์พร้อมจนกว่ามีโอกาสได้รู้แจ้งวิถีจิตแห่งตนพ้นเวียนว่ายในธรรมกาลยุคสุดท้าย พระพุทธองค์จึงทรงเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงเพราะทรงมีวิธีฝึกมนุษย์ให้รู้แจ้งด้วยตนเองได้ครั้งหนึ่งสมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี มีสองพี่น้องมาบวชศึกษาธรรม พี่ชายชื่อมหาปันถกมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ปัญญาไว ส่วนน้องชายชื่อว่า จุลปันถกแสนโง่ทึบสอนอะไรก็จำไม่ได้ พระมหาปันถกแสนเบื่อหน่ายจึงบริภาษพระน้องชายและขับไล่ให้สึกเพราะบวชไปก็เป็นบาปเวรกรรม มิอาจเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ความล่วงรู้ถึงพระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญชา ให้พระน้องชายมาเข้าเฝ้าแล้วพระพุทธองค์ทรงเมตตาสอนให้ขัดถูผ้าผืนหนึ่ง ทำเช่นนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  พระจุลปันถกพากเพียรขัดถูผ้าจนกระทั่งจิตหนึ่งรวมอยู่ในหนทางสายกลางและในที่สุดก็บรรลุธรรรมด้วยการขัดถูผ้านี่เอง  พระพุทธองค์จึงเป็นเฉกเช่น "มหาธรรมนาวา" ขนสรรพสัตว์ให้พ้นไปจากทะเลทุกข์อย่างแท้จริง พระองค์ทรงมีวิธีฉุดช่วยเวไนยสัตว์อย่างแยบยลที่สุด พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ในโศลก "นิรรูปว่า" ว่า "บุคคลใดตั้งใจเป็นครูสอนคนอื่น เขาเองควรมีความคล่องแคล่วในวิธีอันเหมาะสมนานาประการที่จะนำผู้อื่นเข้าถึงความสว่าง เมื่อศิษย์พ้นไปจากความสงสัยสนเท่ห์โดยประการทั้งปวง ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า เขาพบ ธรรมญาณ ของตนเองแล้ว จักรวรรดิ์ของพระพุทธเจ้าอยู่แต่ในโลกนี้ ซึ่งเราจะพบความสว่างไสวได้ในเขตนั้น      การแสะแสวงหาความสว่างในที่อื่นจากโลกนี้ เป็นของพิลึกกึกกือเหมือนการหาหนวดเต่าเขากระต่าย"ความหมายแห่งโศลกนี้ได้ยืนยันให้เห็นความเป็นจริงว่าแม้เวไนยสัตว์มี "ธรรมญาณ" เหมือนกันหมดแต่เพราะกิเลสที่หนาบาง และสั่งสมมาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงมีกลุ่มคนที่ "รู้ก่อน" และ "รู้ตาม" ผู้รู้ก่อนจึงมีภาระหน้าที่ทำให้ผู้อื่นรู้ตามและใครที่ทำหน้าที่เช่นนี้ย่อมต้องใช้ความรู้ความสามารถฉุดช่วยผู้ไม่รู้ได้พ้นไปจากทะเลทุกข์ การทำหน้าที่เช่นนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็น "ครู" ซึ่งจำต้องพิจรณาให้กระจ่างชัดถึงวิธีที่จะช่วยให้คนเหล่านั้นได้สำนึกรู้ได้ด้วยตนเองและมิได้หมายความว่าตนเองเป็นผู้เก่งกาจกว่าผู้อื่นใด เพราะใครก็ตามสิ้นความสงสัยแล้วพบ "ธรรมญาณ" แห่งตนเขาย่อมอยู่ในสภาวะเยี่ยงเดียวกับ พุทธะ ทั้งปวง ด้วยเหตุนี้ผู้เป็นครูจึงเป็นเพียงผู้ชี้แนะหนทางเท่านั้นส่วนการเดินทางไปพบ พุทธะ ล้วนต้องเดินด้วยตนเองทั้งสิ้น ดินแดนพุทธะจึงอยู่ในตนเองและต่างสามารถเข้าไปเฝ้าพระพุทธะของตน โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาพระพุทธะจากที่ไหนเลย  ใครปฏิบัติผิดไปจากนี้จึงเป็นหนทางแห่งความหลงโดยแท้จริง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "ความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "เลิศเหนือโลก"ส่วนความเห็นผิด เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "ติดอยู่ในโลก"
เมื่อใดก็ตาม ความเห็นทั้งสองประการไม่ว่า ถูก หรือ ผิด ถูกสลัดทิ้งไปเมื่อนั้น โพธิ แท้ย่อมปรากฏ"
      ความหมายแห่งโศลกนี้ได้ให้ปัญญาแก่สาธุชนทั้งปวงได้รับรู้ว่าใครก็ตามที่ติดอยู่กับความเห็นไม่ว่า "ถูก" หรือ "ผิด" ล้วนไม่พบปัญญา อันแท้จริง หรือ ปัญญาอันแท้ตามธรรมชาติจักไม่สำแดงออกมาได้เลย เพราะติดอยู่ที่ "ถูก" กับ "ผิด" เป็นกำแพงขวางกั้น "โศลกนี้ถูกขนานนามว่า "มหาธรรมนาวา" เพื่อแล่นข้ามฝั่งวัฏสงสาร กัลป์แล้วกัลป์เล่า ตกอยู่ภายใต้ความมืดบอดแต่ครั้นถึงคราวตรัสรู้ มันกินเวลาแวบเดียวเท่านั้น ก็เข้าถึงพุทธภูมิ"
      คำกล่าวของพระธรรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ชี้ให้เห็นว่า อันความรู้แจ้งไม่จำเป็นต้องใช้เวลายาวนาน เสมือนหนึ่ง ถ้ำที่มืดมานานเป็นแสนปีเมื่อจุดแสงสว่างภายในถ้ำนี้ขึ้นมาฉับพลันก็สว่างไสว "ธรรมนาวา" ย่อมแตกต่างไปจาก "โลกียนาวา" ทุกคนต่างมี "ธรรมนาวา" ที่ต้องภายไปด้วยตัวเอง จึงจักพ้นไปจากทะเลแห่งทุกข์ แต่ "โลกียนาวา" วนเวียนอยู่ในทะเลทุกข์เพราะอาศัยคนอื่นพาย จึงไม่อาจพ้นไปจากทะเลแห่งทุกข์ได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น