วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 20

ตอนที่ 20.... วิมุติปัญญา
      ธรรมญาณ" ของมนุษย์มีพลานุภาพยิ่งใหญ่นัก แต่ที่ด้อยศักยภาพเพราะกิเลสทั้งปวงที่พัวพันและทำให้ด้อยค่าลงไปจึงกลายเป็นปุถุชนที่มีความ "ติดยึด" ทุกสิ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในสภาพเช่นไร ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงไม่มีอิสระ ความคิดที่เกิดขึ้น จึงปนเปไปตามสภาพของสิ่งที่ "ติดยึด"ทั้งสิ้น
ภาวะ "ธรรมญาณ" จึงไม่อาจปรากฏได้
ความทุกข์จึงเกาะกุม "ธรรมญาณ" เอาไว้อย่างเหนียวแน่นจนแม้แต่ตัวเองก็ไม่อาจรู้ว่านั่นเป็น "ความทุกข์" เพราะไม่อาจใช้ปัญญาดั้งเดิมรู้ปัญหาได้เลย
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้บอกเอาไว้ว่า"เมื่อเราใช้ปัญญาดั้งเดิมเพ่งพิจารณาภายในได้ ย่อมเกิดความสว่างไสวแจ่มแจ้งทั้งภายในและภายนอกและอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเองการรู้จักเช่นนี้จึงถือว่าเป็นกาารลุถึงวิมุติคือการหลุดเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ภาวะการลุถึงวิมุติก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปัญญา ซึ่งเป็น "ความไม่ต้องคิด" อันหมายถึงการเห็นและรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน"การใช้ "ความไม่ต้องคิด" นั้นหมายความว่าใจมิได้กำหนดทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว จึงมิได้ติดอยู่กับภาวะดีหรือชั่ว
เมื่อ "ธรรมญาณ" ขยับจึงเกิดเป็น "จิต" และไหลเลื่อนกลายเป็นความคิดดีหรือชั่วตามเหตุปัจจัยที่เกาะเกี่ยวเอาไว้ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากเหตุปัจจัยภายนอกทำให้ "จิต" แปรเปลี่ยนไปตามสภาพแห่งการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นจึงเกิด "ทุกข์" และ "สุข" เสมอ "ทุกข์" และ "สุข" ที่จิตกำหนดหมายเอาไว้ไม่ยั่งยืนไปได้เพราะความแปลเปลี่ยนของ "จิต" ไม่มีที่สิ้นสุด มี "เกิด" และ "ดับ" อยู่ตลอดเวลาภาวะที่เป็นเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปัญญาดั้งเดิม" และถ้าใช้พิจารณาภายในของตนเองก็ไม่อาจพบพบความสว่างแจ่มแจ้งภายในได้เพราะเป็นการปรุงแต่งโดยอิทธิพลภายนอกทำให้ไม่อาจมองย้อนส่องตนได้ตามความเป็นจริง
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า "เมื่อเราใช้"ความไม่ต้องคิด"ธรรมญาณนั้นก็แทรกไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดอยู่ในสิ่งใดเลย สิ่งที่เราต้องทำนั้นมีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่างเพื่อวิญญาณทั้งหกแล่นไปตามอาตนะหก จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก เมื่อใด "ธรรมญาณ" ของเราทำหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากอุปสรรคและอยู่ในสถานะที่จะ "มา" หรือ "ไป" ได้โดยอิสระ เมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่าเราได้บรรลุ สมาธิฝ่ายปัญญา หรืออิสรภาพสถานะเช่นนี้จึงมีนามว่า การทำหน้าที่ของ "ความไม่ต้องคิด"
การที่อายตนะหกอันได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้รับรสจากวิญญาณทั้งหกย่อมมีความหมายว่า ได้ก่อให้เกิด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ ธรรมารมณ์ และ "ธรรมญาณ" รับไปปรุงแต่งภายในย่อมก่อให้เกิดความ "ชอบ" และ "ชัง" เช่นรูป น่ารักและน่าชังรส หวานหรือขม กลิ่น หอมหรือเหม็น เสียง ไพเราะหรือหยาบคาย สัมผัส อ่อนหรือแข็ง อารมณ์ ดีหรือร้าย   การกำหนดหมายเอาว่า "ชอบ" หรือ "ชัง" เป็นเรื่องที่ "จิต" ปรุงแต่งไปตามเคยชินและยึดถือเอาไว้แน่นหนา จึงนำความทุกข์ ทำให้ "จิต" เศร้าหมองได้
ถ้าใช้ "ความไม่คิด" ก็คือ การเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นมิได้ไปกำหนดหมายว่า "น่ารัก" หรือ "น่าชัง" เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าเราบรรลุถึง "วิมุติปัญญา" เพราะสามารถตัดความยึดมั่นถือมั่นได้เด็ดขาดความเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดเหล่านี้จึงเป็นจริง แต่ปุถุชนยึดมั่นไม่อาจตัดออกไปได้ "ปัญญา" ที่ใช้ไปจึงเป็นไปตามสภาพแห่งความอยากได้ ถ้ารูปสวยและปฏิเสธถ้ารูปชัง
เมื่อได้ "รูปชัง" จึงเกิดความทุกข์  ครั้นได้ "รูปสวย" จึงเกิดความสุข
      แต่ไม่ว่าจะ "สวย" หรือ "น่าเกลียด" ล้วนต้องเสื่อมสลายไปตามสภาพความเป็นจริงแห่งสัจธรรม ดังนั้นจึงเกิดความเศร้าหมอง "ธรรมญาณ" จึงมิได้พบภาวะอิสระ ไม่อาจ "มา" หรือ "ไป" ได้โดยง่ายเพราะติดตรึงอยู่กับอารมณ์ทั้งหก
วิมุติปัญญา เป็นปัญญาอันทำให้เกิดภาวะหลุดพ้นไปจากเครื่องร้อยรัดเหล่านี้ได้โดยมิต้องกำหนดหรือบีบบังคับแต่อย่างใดเลย เพราะฉะนั้นการภาวนาใดๆ หรือใช้แปดหมื่นสี่พันวิธีเพื่อบีบบังคับหรือกำหนดมิให้ "ธรรมญาณ" ติดตรึงอยู่กับอารมณ์ทั้งหกจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น เมื่อเห็น รูปสวย จิตเกิดภาวะยึดติดแล้วนั่งสมาธิหลับตาเพื่อตัดรูปนั้นจึงเป็นเพียงการเบี่ยงเบน อายตนะภายนอกคือ "ตา" ให้พ้นไปจากรูปนั้น แต่ "จิต" ยังติดพันอยู่จึงตัดไม่ขาด
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "การหักห้ามความคิดถึงสิ่งต่างๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้ ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้มิให้ปรากฎหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นและข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด""วิมุติปัญญา" หรือ "ปัญญาดั้งเดิม" ย่อมเป็นสิ่งเดียวกันอันหมายถึง "ธรรมญาณ" ที่แต่เดิมมาก็ปราศจากการยึดติดในสิ่งใดๆอยู่แล้วนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น