วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 43

ตอนที่ 43.... หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์
      พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาหกปีค้นจนพบหนทางแห่งการดับทุกข์คือ "สายกลาง" ซึ่งมีทางปฏิบัติอยู่แปดประการเรียกว่า "อริยะมรรค" ใครประคองจิตให้อยู่ในจิตให้อยู่ในหนทางนี้ได้จักพ้นทุกข์อย่างแท้จริงโดยเริ่มต้นดังนี้
1. ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสัจธรรม
2. ความคิดที่ต้องการพ้นไปจากโลกีย์กรรม
3. การสำรวมวาจา
4. การกระทำที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
5. มีอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
6. มีความเพียรที่ถูกต้อง
7. มีสติถูกต้อง
8. มีสมาธิถูกต้อง
      "ทางสายกลาง" สามารถปฏิบัติได้ในมนุษย์เพียงแต่รักษาสภาวะจิตของตนเองให้เป็น "หนึ่ง" ความทุกข์ย่อมไม่เกิด แต่ปุถุชนเกิดความทุกข์ เพราะชอบเปรียบเทียบ จาก "หนึ่ง" จึงไปเป็น "สอง" เพราะฉะนั้นจึงมี "ดี" หรือ "ชั่ว" และจึงเกิด "ชอบ" หรือ "ชัง" พ้นไปจากทางสายกลาง ความวิตกทุกข์ร้อนจึงเกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ในภาวะ "ต้องการ" หรือ "ไม่ต้องการ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายกรณีนี้ว่า "ทำไมเราจึงถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" มาเป็นผลที่จำนงหวังของเราเพราะเหตุที่มีคนเขลาบางประเภทได้โอ้อวดได้เห็นแจ้ง ธรรมญาณ แต่กำลังถูกอารมณ์ที่แวดล้อมลากเอาตัวไปวิตกต่างๆ เกิดขึ้นในใจของเรา ถูกแวดล้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิอันเป็นกระแสแห่งความหลงและกิเลสทุกๆ ชนิด ทั้งนี้เพราะใน "ธรรมญาณ" นั้นไม่มีอะไรสำหรับให้ใครลุถึงเสียเลย ฉะนั้นการที่มาเอ่ยอ้างว่ามีการลุถึงและกล่าวพล่อยๆ ถึงความดีหรือความชั่วเหล่านั้นแล้วล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิและกิเลส เพื่อผลอันนี้เอง เราจึงได้ถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ว่าเป็นผลที่จำนงหวังของเรา"
      พระวจนะตอนนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า "ธรรมญาณ" ซึ่งเป็นตัวสำแดงความว่างไม่มีอะไรให้บรรลุถึง เพราะฉะนั้นตราบใดที่ภายในจิตใจยังวิตกหรือยินดีต่ออารมณ์ทั้งฝ่ายดีหรือชั่ว ย่อมเป็นหนทางแห่งความหลงโดยแท้เพราะสำคัญผิดคิดว่าตนเองสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เที่ยวคุยอวดหรือแสดงเป็นนัยให้คนอื่นรู้ว่าตนเองสำเร็จบรรลุธรรมแล้ว ความรู้สึกที่ผุดขึ้นในจิตเพียงนิดเดียวก็พอแล้วที่จะฉุดให้คนหลงเหล่านั้นลืมตัวและพ้นไปจาก "ทางสายกลาง" ของจิต
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้หนทางพ้นไปจากวิตกจริงทั้งปวงว่า
"การที่จะพ้นอำนาจของวิตก อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เราควรสลัดเสียให้สิ้นเชิง และอะไรเล่าที่เราควรปักใจของเราลงไปเราควรสลัด "ของที่เป็นคู่ๆ อย่างตรงกันข้าม" เสียให้สิ้นเชิงพร้อมทั้งอกุศลเจตสิกทุกๆ อย่าง"
ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวคือ สิ่งที่เป็นคู่กัน เช่น ดี-ชั่ว สวรรค์-นรก สำเร็จ-ไม่สำเร็จ โง่-ฉลาด เพราะตราบใดที่ยังมีคู่ย่อมมีการเปรียบเทียบก่อให้เกิดอารมณ์จนบดบังธรรมญาณตราบนั้นย่อมพ้นไปจากความเป็น "หนึ่ง"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า
"เราควรปักใจของเราลงไปที่ภาวะแท้จริงของ ตถตา เพราะเหตุว่า ตถตา นั่นแหละเป็นตัวการแท้ของวิตก และวิตกเป็นผลแห่งการไหวตัวของ ตถตา"
"ตถตา" มีความหมายว่า มันคงมีสภาพเป็นอย่างนั้นเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะฉะนั้นมันจึงก่อเกิดสรรพสิ่งเพราะเป็นความว่างอันแท้จริง ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนเกียร์ของรถยนต์การที่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะมีเกียร์ว่าง หากปราศจากเกียร์ว่างเสียแล้ว รถยนต์ย่อมใช้ประโยชน์มิได้เลย
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอธิบายว่า "ตัวแท้ของตถตา ซึ่งเบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหากที่ทำให้วิตกนั้นเกิดขึ้น หาใช่อวัยวะรู้สึกอารมณ์นั้นๆ ไม่ ตถตา ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณ์ของตัวมันเอง ฉะนั้นมันจึงสามารถให้กำเนิดแก่วิตก ปราศจากตถตา เสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์และอารมณ์นั้นๆ ย่อมสลายลงทันที เพราะเหตุที่คุณลักษณะของตถตาต่างหากที่ทำให้เกิดแก่วิตก ฉะนั้นอวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ของเราไม่จำเป็นต้องด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วย ในทุกๆ เหตุการณ์แม้มันจะเป็นหน้าที่ใน การดู การฟัง การสัมผัส การรู้ ก็ตาม และตัวภาวะแท้ของเราก็อาจยัง "แสดงตัวเองให้ปรากฏได้" ทุกเวลา" เมื่อ ตถตา ขยับตัวด้วยสื่อสัมผัสใดๆ มากระทบโดยอาศัยช่องทางตา หู จมมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อให้เกิด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และ ธรรมารมณ์ ตัวการแท้จึงอยู่ที่ ตถตา มิได้อยู่ที่อวัยวะใดๆ หากปราศจาก ตถตา ก็เสมือนหนึ่งเวลาเรานอนหลับสนิท ควรมีแสดงอาการอย่างไรก็ไม่มีปฏิกริยาโต้ตอบ หรือ คนจีนที่ไม่รู้จักภาษาไทยแต่กลับถูกด่าด้วยภาษาไทยย่อมฟังไม่รู้เรื่องจึงไม่เกิดการโต้ตอบและมีอารมณ์โมโห ตัวอย่างเด็กทารกที่ยังไม่รู้ความ ใครจะด่าว่าอย่างไร อาการโต้ตอบก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมญาณ ยังมิได้เรียนรู้เป็นสัญญาขันธ์ว่า นั่นคือ คำหยาบคาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอารมณ์โกรธ
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเอาไว้โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งว่า
"พระสูตรจึงกล่าวว่า ผู้ที่คล่องแคล่วในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการเพื่อความเข้าใจอันถูกต้องได้ จักเป็นผู้ที่ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนใน ธรรมอันเอก" เพราะฉะนั้นการรักษาความเป็นหนึ่งของสภาวะจิตย่อมไม่มีการเปรียบเทียบจึงไม่เกิดทุกข์ แต่เมื่อใดมีสอง เมื่อนั้นความทุกข์ย่อมเข้าครอบงำทันที

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 42

ตอนที่ 42.... ไม่ช้า-ไม่เร็ว
      การหมุนเวียนเปลี่ยนระบบสุริยจักรวาลก่อให้เกิดการเวลาอิทธิพลนี้ได้กำเนิด กลางวัน กลางคืน วัน เดือน ปี ชั่วโมง นาที และวินาที
เมื่อ "ธรรมญาณ" ลงมาสู่โลกนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกาลเวลาโดยที่ตัวเองหารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว "ธรรมญาณ" มิได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กาลเวลาเปลี่ยนแปลง "ธรรมญาณ" มิได้ เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีความสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งอะไรเลย
"ธรรมญาณ" ทุกดวงในโลกนี้มีปัญญาเท่าเทียมกัน
      แต่ไฉนคนในโลกจึงมีโง่และฉลาด บางคน"ปัญญาทึบ" บางคนปราดเปรื่อง ปัญญานี้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้ให้อรรถาธิบายว่า
"ในพระพุทธศาสนาที่เป็นไปตามคัมภีร์ ความแตกต่างระหว่างนิกาย "ฉับพลัน" กับนิกาย "เชื่องช้า" มมิได้มีอยู่อย่างชัดแจ้งความแตกต่างเท่าที่เห็นกันอยู่ก็มีแต่เพียงว่า ตามธรรมชาติที่เกิดมาคนบางพวกรู้อะไรได้เร็ว ในเมื่อคนอีกบางพวกทึบต่อการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ พวกที่สว่างไสวก็สามารถเห็นแจ้งสัจธรรมได้ทันทีในเมื่อพวกที่อยู่ภายใต้อวิชชาจะต้องค่อยๆ ฝึกตัวเองต่อไป
แต่ความแตกต่างเช่นกล่าวนี้จะไม่ปรากฏเลย ถ้าหากเรามารู้จักธรรมญาณของตัวเอง และรู้แจ้งต่อสภาพแท้ของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นคำว่า "เชื่องช้า" กับคำว่า "ฉับพลัน" สองคำนี้จึงเป็นเพียงภาพเลือนๆ มากกว่าที่จะเป็นจริง"
      วจนะของท่านฮุ่ยเหนิงจึงยืนยันได้ชัดเจนว่า ทุกคนในโลกนี้มีสภาวะแห่งธรรมญาณเทท่าเทียมกันแต่ที่เกิดอาการแตกต่างกันเพราะ "อวิชชา" คือความไม่รู้จัก "ธรรมญาณ" และสภาวะแห่งความเป็นจริงของ "ธรรมญาณ" แห่งตน
ส่วนการรับรู้ที่ฉับพลันและเชื่องช้าเป็นเพราะอาการยึดมั่นถือมั่นแห่งจิตที่เวียนว่ายไปในสามภพสามภูมิ อารมณ์ดี-ชั่ว ได้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานจนยากที่จะสลัดออกไปได้ ดังนั้นต่างจึงลืมเลือนสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ของตนเองเสียสิ้นความแตกต่างของมนุษย์จึงปรากฏขึ้นในโลกนี้
บาป เวร กรรม ที่ก่อขึ้นมาตามอารมณ์ชาติแล้วชาติเล่าจึงเป็นอวิชชาบดบังปัญญาเสียสิ้น ความรู้แจ้งในสัจธรรมจึงปรากฏช้า
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้หนทางแห่งการพ้นไปจากการติดยึดว่า
"ในการที่จะถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" เป็นผลที่เราจำนงหวัง ถือเอา "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ และถือเอา "ความไม่ขัดติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตออันเป็นประธานสำคัญ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายความหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
"ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์นั้นหมายถึงความไม่ถูกอารมณ์ดึงดูดเอาไว้ ในเมื่อได้สัมผัสกันเข้ากับอารมณ์
ความไมม่เป็นไปตามอำนาจของวิตกนั้นหมายถึงความไม่ถูกลากเอาไปโดยความคิดอันแตกแยกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่กำลังบำเพ็ญภาวนาทางจิต
ความไม่ข้องติด นั้นหมายถึงลักษณะเฉพาะแห่ง ธรรมญาณของเรานั่นเอง"
"ทุกสิ่งไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด"
"ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีตถ้าเราเผลอให้ความคิดของเราที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจับติดต่อกันเป็นห่วงโซ่แล้ว ก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง"
"ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเราข้องติดอยู่ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น เพื่อผลอันนี้เราจึงถือเอา "ความไม่ข้องติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตออันเป็นประธานสำคัญ"
      พระวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้ให้เห็นว่า การข้องติดนั้นเป็นเพราะการเปรียบเทียบ ดี-เลว สวยงาม-น่าเกลียด อาการข้องติดของจิตจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากการเปรียบเทียบมองดูให้เห็นเป็นอย่างเดียวกัน อาการปล่อยวางจักปรากฏขึ้นภายในจิต
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า
"การดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกิเลสในทุกๆ ลักษณะของสิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรานี้เรียกว่า "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ใจของเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งใดๆ และในทุกกรณีเราไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมามีอิทธิพลครอบงำในการที่ใจของเราจะทำหน้าที่ของมัน แต่มันเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงในกาารบีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด เพราะแม้เราจะทำได้สำเร็จในการบังคับเช่นนั้น และเราดับจิตลงไปขณะนั้น เราก็ยังคงต้องเกิดใหม่ในภพ ใดภพหนึ่งอยู่ดี"
      บรรดาท่านที่ชอบนั่งหลับตาทำสมาธิแบบฤาษีชีไพรทั้งปวงควรนำวจนะข้อนี้ไปพิจารณาให้ดี เพราะท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้แจ่มชัดว่า
"บรรดาท่านผู้เดินทางทั้งหลายมันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียวสำหรับคนที่ทำอย่างผิดพลาดเนื่องมาจากไม่เข้าใจความหมายของธรรรมบัญญัติข้อนั้น แล้วมันจะเป็นความชั่วมากขึ้นไปเพียงใดอีก ที่ไปเร้าใจให้ผู้อื่นพากันทำตามเป็นบริวารของตน เมื่อหลงเสียแล้ว เขาก็มองไม่เห็นอะไรและยิ่งไปกว่านั้นเขายังแถมเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธวจนะอยู่ตลอดกาลเป็นนิจด้วย"

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 41

ตอนที่ 41.... หลงข้ามภพข้ามชาติ
      ความไม่รู้จัก "ธรรมญาณ" ของตนเองก่อให้เกิดความหลงอย่างร้ายแรงกลายเป็นอวิชชาสร้างภพสร้างชาติวนเวียน เกิด-ตาย ไม่สิ้นสุดตัวเร่งที่ก่อให้เกิดความหลงนั้นคือ ตัณหาความทะยานอยากไม่ว่าจะเป็นความสุข ความดี ความดัง ความรวย ล้วนเป็นตัวที่ทำให้ "จิต" ของคนหลงวนเวียนติดยึดอยู่กับสิ่งเหล่านี้และเป็นปัจจัยทำให้มี "อาการเกิด" ไม่สิ้นสุด ผู้ฝึกนั่งสมาธิพอนิ่งสงบเกิดความสุขล้วนติดยึดกับความสุขนั้นและเพราะเกิดความอยากเห็นสวรรค์ นิพพาน นรก จิตจึงเนรมิตให้ตนเองได้พานพบ แต่เพราะขาดปัญญาญาณพิจารณาโดยสัจธรรมจึงหลงคิดว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน
ตัวอุปาทานความติดยึดจึงสำแดงเดช ยึดเอาสวรรค์นิพพานเป็นที่หมาย พอเกิดทุกข์นั่งหลับตาไปนิพพาน หนีความทุกข์ได้ทุกครั้งไป
      ความหลงเช่นนี้ไม่มีใครสามารถแกะออกมาได้เลย ถ้ามิได้ใช้ปัญญาของตนพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม
เหตุใดคนเหล่านี้จึงมิได้ใช้ปัญญา เพราะอุปาทานบดบังปัญญาเสียสิ้น
      ปัญญาจึงไม่อาจแยกแยะให้เห็นชัดในเหตุปัจจัยทั้งปวงที่จิตได้ก่อขึ้นด้วยความหลงผิด เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ที่ติดยึดในมิจฉาสมาธิล้วนเป็นผู้ท่ได้สั่งสมเอาไว้แล้วในชาติปางก่อน กลายเป็นจริตที่ติดจิตญาณมาจนแกะไม่ออก ชาติที่แล้วก็นั่งหลับตาภาวนาเป็นฤาษี ชาตินี้เกิดมาก็ยังคงนั่งหลับตาภาวนาเป็นผู้ถือศีล ปฏิบัติอย่างนี้ชาติแล้วชาติเล่าหาได้ไปถึงไหนไม่ เพราะไม่อาจค้นพบจุดกำเนิดที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นจึง เกิด-ตาย ไปเรื่อยๆ แต่พระพุทธองค์ทรงค้นพบสิ่งที่ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการตาย
การค้นพบเช่นนี้มิได้แต่เฉพาะการใช้ปัญญาญาณเท่านั้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ว่า "อาจารย์สอนกัมมัฏฐานบางคน สอนศิษย์ของตนเองให้เฝ้าระวังจิตของตนให้นิ่งเงียบ ถึงกับว่าหมดความเคลื่อนไหวเป็นไปของจิตเอาเสียทีเดียว เมื่อเป็นดังนั้น พวกศิษย์ก็พากันเลิกถอนการระดมกำลังจิตเสียสิ้นเชิง คนหลงผิดเหล่านี้พากันฟั่นเฟือน เนื่องจากมีความเชื่อถือในคำแนะนำนั้นเกินไป" ความหมายแห่งพระวจนะนี้น่าจะชัดเจนว่าการกำหนดให้จิตของตนนิ่งเงียบปราศจากความเคลื่อนไหวนับเป็นหนทางแห่งความหลงผิดโดยแท้เพราะตัวการของจิตคือ "ธรรมญาณ" มิได้มีหน้าที่ใช้ปัญญาซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์เลย เพราะไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงความเคลื่อนไหวของ "จิต" ว่าดีหรือชั่ว มีกิเลสหรือไม่มี กำลังของจิตญาณคือ การใช้ความคิดซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติและเราเรียกกันว่าปัญญาโดยตัวของมันเองแล้วมีพลานุภาพที่สามารถตัดขาดจากกิเลสทั้งปวงได้ แต่เพราะมันถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ มันจึงไร้อานุภาพโดยสิ้นเชิงเหมือนถูกกักขังเอาไว้
      สภาวะดั้งเดิมของ "ธรรมญาณ" มีความเงียบสงบอยู่แล้วแต่การขยับตัวของธรรมญาณ จึงกลายเป็น "จิต" ที่เกิดความคิดอ่านในขณะเดียวกันคุณลักษณะของธรรมญาณ คือมีปัญญาแยกแยะ แต่สภาวะแห่งจิตนั้นกระสับกระส่ายวิ่งวนมิอยู่นิ่ง การบังคับให้ต้องอยู่นิ่งๆ จึงเป็นการหลงคิดว่าเป็นความว่าง แท้ที่จริงมิใช่ความว่างตามธรรมชาติแห่ง "ธรรมญาณ" เมื่อ "จิต" อยู่นิ่งไม่เป็น ความคิดฟุ้งซ่านจึงเกิดขึ้นและสามารถสร้างสรรค์ไปทั้งในทางดีและร้ายได้เสมอกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายไม่สิ้นสุดว่าความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิด ความคิดปรุงแต่ง ความคิดปรุงแต่งจึงเป็นเหตุให้เกิด วิญญาณความรับรู้ วิญญาณความรับรู้จึงเป็นเหตุให้เกิดนามรูป นามรูปจึงเป็นต้นเหคุให้เกิด อายตนะหก หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะหกจึงเป็นเหตุให้เกิดสัมผัสเมื่อสัมผัสแล้วจึงเป็นเหตุให้เกิด อารมณ์ อารมณ์จึงเป็นเหตุให้เกิดความอยากและตัณหา ตัณหาจึงเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทานอุปาทานจึงเป็นเหตุให้เกิดภพ  ภพจึงเป็นเหตุให้มีความเกิดคือชาติ
เมื่อมีการเกิด จึงเป็นเหตุให้ แก่แก่แล้วจึงถึงซึ่งความตาย
      เมื่อความตายมาถึงจึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์โศก เสียใจ และเพราะเสียใจคับแค้นใจจึงกลายเป็น "ความไม่รู้" และเริ่มต้นเวียนวนไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นทะเลทุกข์ที่ท่องกันไปชาติแล้วชาติเล่า
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ท่านจึงกล่าวเตือนไว้ว่า
"ความหลงผิดเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่มีอยู่ทั่วไปและมีมานานแล้ว และจึงถือเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงที่สอนให้ผู้อื่นระวังจิตขิงตนให้นิ่งเงียบ"

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 40

ตอนที่ 40.... หลอกตัวเอง
      การนั่งสมาธิอาจนำไปสู่การหลอกตัวเองได้ง่ายๆ แต่ถอนออกจากอุปาทานคือการยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่จิตตนเองสร้างเอาไว้นั้นเป็นเรื่องยากที่สุด
ฤาษีจึงหลงติดอยู่ในญาณสมาบัติจนสำเร็จขึ้นไปเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม นับเป็นแสนกัลป์ ครั้งเสื่อมจากญาณก็ต้องจุติตกลงมาเกิดกายในภูมิวิถีหก ชาติกำเนิดสี่อีกเช่นกัน
      สมัยที่พระพุทธองค์ทรงฝึกฝนเข้าฌาณกับพระอาจารย์สององค์คือ อุทกดาบส และอาฬารดาบส จึงทรงรู้ได้ด้วยปัญญาของพระองค์ว่ามิใช่หนทางแห่งการหลุดพ้นเวียนว่ายตายเกิดอย่างแท้จริง พระพุทธองค์จึงทรงละวิธีนั้นเสียโดยปฏิเสธคำเชิญชวนของอาจารย์ทั้งสองให้รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนสมาธิ ฌาณสมาบัติ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงททรงบัญญัติและปฏิบัติสัมมาสมาธิ ซึ่งย่อมมีภาวะแตกต่างไปจากมิจฉาสมาธิอย่างแน่นอน หากเป็นอย่างเดียวกันไหนเลยจักต้องลำบากค้นหาหนทางสายกลางและบัญญัติออกมาเป็นมรรคมีองค์ 8 เล่า
หลักฐานปรากฏชัดเจนว่าภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ "ธรรมญาณ" แล้วพระองค์มิได้นั่งสมาธิเฉกเช่นฤาษีอีกต่อไปคือพระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะการนั่งเข้าญาณสมาบัติ ย่อมไม่อาจมีคำสอนใดๆ ถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลังได้เลย
แต่ตลอดระยะเวลา 47 พรรษา พระพุทธองค์เสด็จโปรดเวไนยสัตว์ มีเวลาพักผ่อนวันละไม่เกินสามชั่วโมง
ใน "วิมลกีรตินิเทศสูตร" ได้กล่าวเอาไว้ตอนที่พระสารีบุตรนั่งเงียบๆ ท่านวิมลกีรติกล่าวว่า
      "เมื่อกล่าวถึงการนั่งเงียบๆ แล้วมันควรจะหมายถึงว่าเขาไม่เกิดในโลกทั้งสามอีกต่อไป มันควรจะหมายถึงว่าขณะที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินั้น เขาก็สามารถทำการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางกายได้เช่น การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ฯลฯ มันควรจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องหันเหออกจากทางแห่งบัญญัติ เขาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางวิสัยโลกได้มันควรหมายถึงว่า เขาคอยอยู่ข้างในก็หามิได้ ข้างนอกก็หามิได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการอยู่ โดยปราศจากความหวั่นไหวด้วยอำนาจของมิจฉาทิฏฐิ มันควรจะหมายถึงว่าโดยไม่ต้องมีการทำลายล้างกิเลสอีกต่อไป เขาก็สามารถเข้าถึงนิพพาน
      ผู้ที่นั่งได้เช่นนี้แหละจะได้รับความรับรองจากพระพุทธเจ้า"
ถ้อยความในพระสูตรนี้ ยืนยันได้ว่า การนั่งเงียบๆ โดยไม่ไหวติงแม้ในจิตของตนเองนั้นเป็นการนั่งเงียบแบบก้อนหิน
แต่การนั่งสมาธิอย่างที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ สภาวะแห่งจิตยังมีโอกาสเกิดในสามภพอีกกล่าวคือ ยังมีความรู้สึกติดอยู่ในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ
อารมณ์ของกามภพคือ รัก-เกลียด โกรธ-หลง
อารมณ์ของรูปภพคือ ติอยู่ในรูปลักษณ์ทั้ง รูปธรรมและนามธรรม
อารมณ์ของรูปภพคือ ติดอยู่ในรูปของความว่างโดยไม่รู้ตัว
สมาธิอย่างที่รู้ตัวทั่วพร้อมตั้งมั่นรับรู้ผัสสะทั้งปวง สามารถตัดอารมณ์ที่มากระทบได้ทันทีที่บังเกิดขึ้นนั่นแหละ เป็น สัมมาสมาธิ
      ส่วนการนั่งหลับตาทำสมาธิอย่างที่นิยมกัน มักมีภาพนิมิตให้หลงใหลจนกลายเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง และน่าเสียหายนักผู้ที่ติดไม่รู้ตัวว่าได้ติดร่างแหแห่งความงมงายไปเสียแล้ว
มีผู้ปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งพื้นฐานทางโลกจบปริญญาเอก อาชีพเป็นอาจารย์ บรรยายวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านชอบนั่งสมาธิจนกระทั่งฝึกถอดจิตได้เห็นกาายเนื้อของตนเองนั่งหลับตาเหมือนท่อนเนื้อ
ภรรยาสุดที่รักของท่านเสียชีวิตด้วยโรคร้าย
      ท่านมีความรักและผูกพันกับภรรยามากแต่ท่านก็สามารถแก้ไขปัญหาความคิดถึงด้วยการถอดจิตไปคุยกับภรรยาบ่อยๆ นับเป็นเดือนเป็นปี
ปัญหาที่สงสัยกันคือ ท่านอาจารย์ผู้นี้พบกับวิญญาณของภรรยาจริงๆ หรือไม่
คำตอบนี้น่าจะเป็นการแก้ข้อสงสัยได้ดีที่สุดคือ ทุกชีวิตที่พ้นไปจากกายสังขารนี้แล้วย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง ถ้าเป็นกุศลปัจจัยก็ไปสู่สุขคติ
ถ้าเหตุเป็นอกุศลก็ไปสู่ทุกขสติ ถ้าวิญญาณภรรยาผู้นี้ยังคงมาคุยกับสามีอยู่เสมอๆ เธอก็ไม่ตกอยู่ในกฎแห่งการเวียนว่าย
และอีกเรื่องหนึ่งน่าเป็นคำตอบที่ดีสำหรับการนั่งสมาธิถอดจิตนั้นมีผลเป็นอย่างไร
ชายหนุ่มคนหนึ่งมีความรักต่อภรรยาของตนอย่างสุดซึ้ง แต่ภรรยากำลังป่วยหนักใกล้ตาย จึงขอคำมั่นสัญญาจากสามีว่า ชาตินี้จะเป็นเธอคนเดียวตลอดชีวิต แม้ชีวิตเธอจะหาไม่แล้วก็จักไม่แต่งงานใหม่ ถ้าผิดสัญญาเธอจะมาอาละวาด
เมื่อชายหนุ่มสูญสิ้นภรรยาไปแล้ว เขาก็รักษาคำมั่นสัญญาไม่ข้องแวะกับสตรีใดเลย จวบจนเวลาล่วงเลยไปหนึ่งปี ชายผู้นี้จึงพบกับหญิงสาวสวยรายใหม่ จิตใจของชายผู้นี้หวั่นไหว และเห็นว่าภรรยาตายไปนานแล้วจึงจัดการมั่นหมาย
      ครั้นตกกลางคืน ผีภรรยาจึงมาปรากฏแล้วต่อว่าต่อขานอย่างรุนแรงจนสามีหมดปัญญาไม่ว่าจะก้ตัวอย่างไร ผีภรรยาก็ไล่ต้อนจนมุมได้ทุกทีไปทั้งๆ ที่สมัยเป็นคนไม่มีสติปัญญาเอาเสียเลย ชายหนุ่มจนหนทางได้แต่ตรอมตรมใจผ่ายผอม เพราะผีภรรยามารบกวนอยู่ทุกคืน จนกระทั่งญาติพี่น้องต้องพาไปหาหลวงพ่อซึ่งบำเพ็ญปฏิบัติอยู่บนภูเขา
หลังจากหลวงพ่อซักไซร้ไล่เลียงกันแล้วจึงมอบถั่วเหลืองให้หนึ่งทะนนานแล้วสั่งว่า
"คืนนี้เมื่อผีมาก็ให้ถามว่าเจ้าเป็นผีรู้ทุกอย่างใช่ไหมแล้วจงกำถั่วเหลืองให้ผีเมียเจ้าทาย แล้วเจ้าก็จะรู้อะไรเป็นอะไร"
ครั้นตกกลางคืนผีภรรยาก็มาตามเคย สามีก็ยกย่องถึงความฉลาดของผีและถามว่า
"เธอรู้ทุกอย่างใช่ไหม"
"อ๋อ แน่นอน ตอนกลางวันพี่ขึ้นไปหาหลวงพ่อ น้องก็รู้"
"ถ้ายังงั้นเธอลองทายซิว่า ในกำมือของพี่มีถั่วเหลืองกี่เม็ด"
      ผีงงงันตอบไม่ถูกและทันใดนั้นก็หายวับไปกับตาซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกันที่ดวงตาของชายหนุ่มทอแสงเจิดจรัส เพราะเข้าใจชัดเจนว่าแท้ที่จริง ผี ที่มาหาทุกคืนก็คือสิ่งที่จิตสร้างเอาไว้หลอกตัวเอง
บางสำนักขยันถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังแดนนิพพานและโด่งดังถึงขนาดยกขบวนญาติโยมขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันทีเดียว
ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ไปเฝ้าใครกันแน่ พระพุทธะ หรือ พระยามาร
ครั้งที่พระพุทธศาสนาล่วงมาแล้ว 200 ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งชมพูทวีปมีพระราชศรัทธาสร้างพระสถูปเจดีย์แปดหมื่นสี่พันองค์ แต่กริ่งเกรงว่าพระยามาร วสวัตตี จักมารังควานจึงทรงปรึกษากับพระเถระทั้งปวงว่าควรป้องกันอย่างไรดี
      พระเถระมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรไปนิมนต์พระกีสนาอุปคุตเถระซึ่งตามพุทธพยากรณ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"ภายหน้าจักมีพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่าอุปคุตเถระ จักปราบพระยามารให้ละพยศ พ่ายแพ้แล้วจะกล่าวปฏิญาณปรารถนาพุทธภูมิ"
      ครั้งพระยามารวสวัตตีลงมากลั่นแกล้งในกองบุญครั้งนี้จึงต่อสู้กับพระอุปคุตด้วยสามารถจนพ่ายแพ้ถูกพระอุปคุตใช้ประคตวิเศษผูกพระยามารไว้กับภูเขาลูกหนึ่งจนสิ้นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน พระยามารร่ำรำพันด้วยความคับแค้นใจจนประกาศก้องว่า
"หากบุญกุศลที่สั่งสมไว้ ในเบื้องหน้าจักมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนี้ ขอถึงซึ่งการเป็นพระพุทธเจ้า อันจักได้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ทั้งปวง"
      พระอุปคุตเถระได้ยินดังนี้จึงแก้มัดและขอให้พระยามารนิรมิตกายเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อชมบุญ "ถ้าข้าพเจ้านิรมิตแล้วพรคุณเจ้าอย่าได้ไหว้เพราะจักเป็นบาปแก่ข้าพเจ้า"
ครั้นพระยามารแปลงกายเป็นพระพุทธเจ้า พระอุปคุตเถาระยังก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ถวายสักการะบูชา
เพราะฉะนั้นการถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอาจหลงไปเฝ้าพระยามาร
      การเห็นรูปลักษณ์ททั้งปวงจึงมิใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์แต่กลายเป็นทุกข์หนัก เพราะจิตหลอกลวงตัวเองโดยไม่รู้ตัว จึงเปรียบเป็นการทำลายชะตาชีวิตอย่างน่าเสียดายนัก
เมื่อจิตมีความยินดีปรารถนาเสียแล้วย่อมถอนออกจากความโง่เง่าได้ยากนัก
ใครก็ตามบำเพ็ญธรรมแล้วตกอยู่ในภาวะแห่งการหลอกลวงตัวเองจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจนัก เพราะเขายึดถืออาการหลอกลวงนั้นด้วยความมั่นคงตราบชั่วชีวิตทีเดียว

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 39

ตอนที่ 39.... สมาธิที่ถูกวิธี
      วิธีทำสมาธิย่อมมีทั้งวิธีที่ถูกและผิด แต่เพราะมิได้นำมาพิจารณาแยกแยะให้ชัดเจน จึงไม่รู้ว่าวิธีใดถูกและผิด ขอแต่เพียงเป็นสมาธิก็เหมาเอาว่าเป็นของพระพุทธองค์และยินดีรับมาปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะหลงปฏิบัติผิดไปนานแสนนานก็ไม่รู้ตัวกลายเป็นการยึดมั่นและถือมั่นเป็น
อัตตาตัวตนเหมือนกับสำนวนที่ว่า "สมาธิข้าใครอย่าแตะ"
      ถ้ามีใครมาบอกว่าการนั่งสมาธิของตนเองผิด ความไม่พอใจก็เกิดขึ้นและพาลหาว่าคนเหล่านั้นกระทำการเหมือนคนนอกศาสนาไปโน่น
สมัยที่ฝึกหัดนั่งสมาธิอัตตาก็แค่ตัวคนเดียว เล็กนิดเดียวแต่เผอิญนั่งไปนานๆ เข้าเกิดนิมิตเห็นเป็นพระพุทธรูป
ขยายให้ใหญ่เต็มท้องฟ้าหรือเล็กนิเดียวเท่าเมล็ดงาก็ทำได้
เมื่อรูปนิมิตขยายใหญ่เท่าไร อัตตาของคนเห็นก็ใหญ่ขึ้นเท่านั้น ความหลงก็เกิดขึ้นจนประมาณขอบเขตของความหลงนั้นมิได้ ยิ่งมีคนมาบำเพ็ญปฏิบัติด้วยมากเท่าไร อัตตาของตนเองก็ขยายออกไปมากเท่านั้น
คนหลงเป็นล้านกับคนหลงหนึ่งคนต่างก็มีค่าเป็นความหลงเช่นเดียวกัน
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวเอาไว้ว่า
"การบำเพ็ญ "สมาธิที่ถูกวิธี" นั้นได้แก่การให้เป็นระเบียบตายตัว เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาสไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน วิมลกีรตินิเทศสูตร มีข้อความว่า
"ความเป็นผู้ตรงแน่วนั่นแหละคือ เมืองอริยะ แดนบริสุทธิ์"
"เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ใจคดเคี้ยวไปมา และอย่าประพฤติความตรงแน่วเพียงลมฝีปาก"
"เราต้องบำเพ็ญให้ตรงแน่วจริงๆ และไม่ผูกพันตัวเองไว้กับสิ่งใดๆ คนมี่งมงายอยู่ภายใต้อวิชชา ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงไปตามธรรมลักษณะฉะนั้นเขาจึงรั้นที่จะแปลเอาตามชอบใจของตัวเอง"
      พระวจนะของท่านฮุ่ยเหนิงได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สมาธิที่ถูกวิธีนั้นมิใช่เป็นการนั่งแต่เป็นการคุมจิตให้มีพฤติกรรมออกมาอย่างตรงต่อสัจธรรมในทุกอริยาบถ
คนที่นั่งนิ่งๆ ไม่ไหวติงมิอาจกล่าวได้ว่าจิตใจตรงแน่วต่อสัจธรรมเฉกเช่นเดียวกับคนที่ปากบอกว่าตรงต่อสัจธรรมก็ไม่อาจประเมินว่าเป็นคนตรงแน่วจริงแท้
ความตรงแน่วจึงไม่อาจตัดสินกันได้ด้วยวาจาหรือการกระทำด้วยอาการของร่างกายเท่านั้น แต่ความตรงแน่วย่อมต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงความเคลื่อนไหวของจิตที่ผลิตออกมาจากธรรมญาณ
สติ จึงเป็นตัวคุมที่ดีที่สุด
      แต่การนั่งหลับตาจนมองเห็นพุทธรูปหรือดอกบัวตลอดจนเห็นวิมานชั้นสวรรค์ย่อมเป็นอาการของคนหลงซึ่งไม่ต่างไปจากคนในโลกนี้ที่เดินเที่ยวตามศูนย์การค้าและเพลิดเพลินกับสินค้าที่ตัวเองเกิดจิตปรารถนามองทุกครังที่เป็นศูนย์การค้านั้น
ปุถุชนจึงชอบที่ประกาศความตรงแน่วของตนเองทุกเวลาเพื่อยืนยันให้ผู้มีปัญญารู้ว่า ตนเองนั้นมิได้มีความตรงแน่วแต่ประการใดเลย
ส่วนผู้ที่บำเพ็ญปฏิบัติที่แท้จริงและมีปัญญา จักเกิดความเข้าใจได้ว่า ความตรงแน่วตามหลักสัจธรรมนั้นไม่สามารถประกาศออกมาได้ด้วยวาจา แต่เกิดขึ้นจากจิตที่รู้จักธรรมญาณของตนเองเท่านั้น บุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนด้วยจิตใจและสำนึกถึงความผิดของตนเองบ่อยครั้งจนกลายเป็นหลักปฏิบัติของตนเองไป แต่คนที่ปฏิบัติตามความตรงแน่วด้วยรูปลักษณ์หรือด้วยวาจาย่อมพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามสภาพแห่งความหลอกลวงที่ตนเองหลงเข้าไปติดยึดว่าถูกต้อง คนที่หลงตกอยู่ในอวิชชาคือความไม่รู้อันแท้จริงนั้นย่อมแปลความหมายแห่งการปฏิบัติธรรมของตนไปตามที่ได้พบเห็นและยึดถือว่าถูกถ้วน
บางท่านแปลการทำสมาธิต้องนั่งนิ่ง ภาวนาถ้อยคำเพื่อให้จิตนั้นสงบนิ่ง
      ครั้งจิตสงบนิ่งแต่ได้สร้างภาพมายามากมาย ครั้นพบภาพที่สวยงามพึงใจ จิตจึงติดยึดไม่ปล่อยวาง จึงตีความว่าวิธีการบำเพ็ญของตนเองนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว มีความสงบ มีความสบาย อย่างชนิดที่ไม่เคยได้พบมาก่อนเลยเพราะฉะนั้นจึงยึดมั่นถือมั่นและเห็นเป็น "ธรรมลักษณะ" ที่ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธองค์สั่งสอน ความหลงเช่นนี้ยากที่จะมีใครไปถอนให้ได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า"ในการแปลคำว่า "สมาธิที่ถูกวิธี" จึงพากันแปลว่านั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป โดยไม่ยอมให้ความคิดอันใด อันหนึ่งเกิดขึ้นในจิตการแปลความหมายเช่นนี้เป็นการจัดตัวเราเองลงไปอยู่ในชั้นเดียวกับวัตถุที่ไร้ชีวิตวิญญาณทั้งหลายและกลายเป็นสิ่งสะดุดเกะกะกีดขวางหนทางตรง ซึ่งเราสมควรทำให้เปิดโล่งอยู่เสมอ ถ้าทำใจของเราให้พ้นไปจากการข้องแวะในสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งได้แล้ว ทางนั้นก็จะเตียนโล่งถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ได้ชื่อว่า ขังตัวเราเอง
ถ้าหากแปลคำว่านั่งอย่างเงียบติดต่อกันไปเป็นคำแปลที่ถูกต้องแล้วทำไมในคราวหนึ่งท่านสารีบุตรจึงถูกท่านวิมลกีรติขนาบเอาเนื่องจากนั่งเงียบๆ ในป่านั่นเอง"
      การนั่งเงียบๆ จึงไม่ผิดอะไรกับก้อนหิน ท่อนไม้ที่ตายแล้วเพราะวัตถุเหล่านี้ก็นั่งเงียบๆ เหมือนกัน
และถ้าจิตที่มีสติคอยควบคุมให้อยู่ในอาการของการตื่นตัวและรู้เท่าทันกิเลสทั้งปวงที่ผ่านเข้ามาทุกวินาที และกำหราบกิเลสเหล่านั้นลงไปได้ สมาธิเช่นนี้ต่างหากจึงเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์โดยแท้

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 38

ตอนที่ 38.... หลงสุขจึงไม่เห็นทุกข์
      ทางแห่งความหลงมีหลายแยกแต่ละทางแยกยังมีทางแยกออกไปอีกหลายสาย จนคนหลงทางมองไม่เห็นถึงความหลงนั้นและเดินไปด้วยคิดว่าเป็นหนทางแห่งความถูกต้องเพราะตรงกับจริตของตนเอง ทางเช่นนี้จึงสมควรเรียกว่า "ทางแห่งอวิชชา" เพราะเป็นความไม่รู้ที่แท้จริง กล่าวคือไม่รู้ว่าตนเองยังหลงอยู่
สมาธิที่ทำให้ผู้ลุ่มหลงทั้งหลายต้องจ่ายเงินตราให้แก่ผู้แสวงหาลาภสรรเสริญมากมายจนกลายเป็น "สมาธิพาณิชย์" ที่ทำกำไรมหาศาลยิ่งกว่ากิจการค้าใดๆ ในโลกนี้
มีหลวงพ่อองค์หนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าฌาณสมาบัติถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้แล้วยังพาผู้อื่นขึ้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้อีกด้วยจึงกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมีผู้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ มากมาย
เงินทองจึงเดินสะพัด
      "โยมเงินทองมิได้ช่วยให้ไปถึงนิพพาน ใส่ไว้ทำไมให้จิตใจลุ่มหลงมัวเมา ผู้ที่ถอดได้คือ ผู้ที่ตัดได้ จึงได้ชื่อเป็นผู้ละวางความลุ่มหลงลงไปได้ เอ้าถอดสายสร้อย แหวน ใส่ลงไปในบาตรของอาตมาแล้วจะปลุกเสกให้กลายเป็น อริยะทรัพย์ฝากไว้ในพระพุทธศาสนา"
ญาติโยมฟังจนเพลินและไพเราะหนักหนาต่างพากันถอดทรัพย์สินใส่ลงไปในบาตรทั้งหมด โดยหวังว่าเมื่อปลดระวางทรัพย์ทั้งหลายลงไปแล้วจิตใจจักได้เบาสบายและสามารถเกาะจีวรหลวงพ่อขึ้นไปเฝ้าพระพุทธองค์ได้
ญาติโยมถอดแก้วแหวนเงินทอง แต่หลวงพ่อกลับไปติดที่โบสถ์สวยงามดังวิมานบนชั้นฟ้า ทังหลวงพ่อและโยมจึงกลายเป็นผู้ติดความสุขไปโดยไม่รู้ตัว
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"สำหรับบุคคลที่ลิ้นของเขาพูดได้ไพเราะ แต่ใจของเขาไม่สะอาดสมาธิและปัญญาไม่มีประโยชน์อะไรแก่เขา เพราะสมาธิและปัญญาของเขาไม่มีทางสมดุลย์หรือสัมพันธ์กันได้เลย ส่วนอีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามคือถ้าดีทั้งใจและดีทั้งถ้อยคำที่พูดทั้งกริยาอาการภายนอกกับความรู้สึกในใจประสานกลมกลืนกันแล้วนั่นแหละ คือกรณีสมาธิและปัญญาได้สัมพันธ์กันอย่างสมดุลย์"
ความหมายแห่งพระวจนะนี้ได้ชี้ให้เห็นความเป็นจริงที่ชัดเจนว่า
สมาธิและปัญญา แม้เป็นของอย่างเดียวกัน แต่การสำแดงออกมาถ้าปราศจากสมาธิควบคุม ก็อวดอ้างว่าตนเองสำเร็จบรรลุธรรมพ้นไปจาก โลภ โกรธ หลง แล้ว เขาเหล่านี้จึงกลายเป็น โมฆะบุรุษ คือ ผู้มาเปล่าและกลับไปเปล่านั่นเอง
ส่วนผู้ที่สามารถทำให้ภายนอกและภายในจิตใจของตนเองมีความสมดุลย์กัน เพราะ สติ เป็นกำลังสำคัญ สมาธิจึงสำแดงปัญญาออกมาต่อสัจธรรมแห่งธรรมญาณซึ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่แล้วตามธรรมชาติ
แม้ผู้นั้นบรรลุถึง ธรรมญาณเดิม ของตนแล้วจึงมิใช่ผู้ที่จะมาอวดอ้างยกตนเหนือผู้อื่นว่า พ้นไปแล้วจากโลกียกรรมทั้งปวง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้อรรถาธิบายว่า "การโต้แย้งจึงไม่เกิดขึ้นแก่นักศึกษาผู้ที่มีความสว่างไสวแล้ว แต่ถ้ายังโต้แย้งถกเถียงกันว่า ปัญญาเกิดก่อน หรือสมาธิเกิดก่อนนนั่นแหละจะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับคนที่ถูกอวิชชาครอบงำเพราะการเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่านชนะย่อมเสรมกำลังให้แก่ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน และย่อมผูกพันเราไว้กับความยึดถือ ด้วยความสำคัญว่าตัวตนว่าสัตว์ ว่าชีวะ ว่าบุคคล" เพราะเหตุนี้เองใครที่อวดอ้างว่าตัวเองสำเร็จธรรม และเห็นผู้อื่นไม่สำเร็จธรรม คนผู้นั้นจึงเป็นผู้โง่เขลาที่แท้จริง และแบ่งแยกดูถูกคนทั้งปวง "อรหันต์" ตั้งตัว และลูกศิษย์ตั้ง จึงกลายเป็น "อรหันต์จับฉ่าย" ไปด้วยประการเช่นนี้ เพราะทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างยังตกอยู่ในวังวนของ "อวิชชา"
ความไม่รู้ของผู้สนใจศึกษาธรรมะและหลงติดใน สมาธิจึงไม่รู้ถึงความเป็นจริงระหว่างสมาธิกับปัญญาว่ามีลักษณะเป็นเช่นใด
      พระสังฆปริณายกฮุ่ยเหนิงได้เปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าสนใจและชัดเจนว่า
"สมาธิและปัญญานั้น ควรเปรียบเทียบกับอะไรดีเล่า ธรรมะ สองชื่อนี้ควรเปรียบกับตะเกียงและแสงของมันเอง มีคะเกียง ก็มีแสงไม่มีตะเกียง มันก็มืด ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่างและแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียงโดยชื่อฟังดูเป็นสองอย่างแต่โดยเนื้อแท้แล้วมันเป็นของอย่างเดียว และเป็นทั้งของอย่างเดียวกันด้วย กรณีเช่นนี้แหละเปรียบได้กับ สมาธิปัญญา"
ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจึงตกอยู่ในภาวะสองอย่าง คือ หลงติดกับตัวตะเกียงหรือแสงสว่างของตะเกียง ถ้าเฝ้าดูเพลิดเพลินไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งจึงเป็นผู้ติด
ธรรมดาเมื่อตะเกียงจุดแสงสว่างย่อมนำไปใช้ประโยชน์เพื่อส่องทางแต่บัดนี้บรรดาผู้ปฏิบัติสมาธิขั้นหลงลมอาจารย์หรือหลงสมาธิต่างมีความสุขเพลิดเพลินไปกับแสงสว่างบ้าง ความนิ่งบ้าง จนลืมความทุกข์ที่แท้จริงของชีวิตอันเป็นวิบากกรรมที่ตนเองสร้างเอาไว้
คนหลงเหล่านี้เชื่อว่าการพ้นหนี้เวรกรรมของตน ใช้สมาธิเป็นหนทางหนีรอดได้ ถ้าความสุขทำได้ง่ายเช่นนี้ กฎแห่งกรรมก็มิใช่สัจธรรมอีกต่อไป
ทำร้ายชีวิตอื่นอย่างทารุณก็สามารถนั่งสมาธิหนีหนี้ได้สบายมากจริงไหม

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 37

ตอนที่ 37.... นั่งเฝ้าก้อนเนื้อ
      พุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดูเหมือนมีความเชื่ออย่างเด็ดขาดมั่นคงว่า วิธีบำเพ็ญให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงจนบรรลุมรรคผลนิพพานต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญคือ "นั่งสมาธิ" และยังเชื่อกันต่อไปว่า เป็นการปฏิบัติบูชาตามที่พระพุทธองค์สรรเสริญกิจกรรมสมาธิ จึงบานสะพรั่งเต็มเมืองไทย
วัดไหน อาจารย์ไหนไม่รู้เรื่องสมาธิ
วัดนั้นอาจารย์นั้นล้าหลังหาความเจริญรุ่งเรืองมิได้
      "สมาธิ" จึงกลายเป็น "พุทธพานิชย์" อีกแบบหนึ่งซึ่งสร้างความร่ำรวยให้แก่วัดและอาจารย์เหล่านั้นที่กำหนดรูปแบบสมาธิขึ้นมาแล้วยืนยันว่าเป็นวิธี ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อกันมา
และในที่สุดอาการ "งมงายสมาธิ" หรือ "สมาธิแบบงมงาย" จึงส่งผลให้ผู้ปฏิบัตินั้นยังเร่าร้อน ลุ่มหลง โทสจริต โมหาคติ ยังแรงกล้า
ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบงมงายจึงเต็มไปด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นและก่อกรณีรุนแรงร้าวฉานขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น
      ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแบบรู้แจ้ง จิตใจเบิกบาน ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวงได้ ชีวิตดำเนินไปด้วยปัญญา ความสงบสันติในตัวเองและผู้อื่นจึงปรากฏขึ้น
สมาธิ จึงมีอยู่สองวิธี คือ "มิจฉาสมาธิ" เป็นสมาธิที่หลงงมงายไม่สามารถพาให้จิตญาณของตนพ้นเวียนว่ายตายเกิด แม้มีอิทธิฤทธิ์มากมายแค่ไหนก็ไม่อาจพ้นนรก
"สัมมาสมาธิ" เป็นสมาธิที่พาให้จิตญาณพ้นไปจากความหลงงมงาย และดำรงตนมั่นอยู่ในสัจธรรมอันเป็นผลมาจากปัญญาที่มีกำลังกล้าแข็งตัดความทุกข์ได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้ในพระสูตร "ว่าด้วยสมาธิและปัญญา" ว่า
"ในระบบคำสอนของอาตมา สมาธิปัญญา นับเป็นหลักสำคัญแต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่าธรรมะสองข้อนี้แยกจากกันเป็นอิสระ เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้และมิใช่ของสองอย่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง"
ความหมายแห่งคำสอนนี้ถ้าเอา "น้ำ" มาเปรียบเทียบจะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น น้ำ มีคุณสมบัติเด่นคือ ความเย็น และเหลวเราไม่อาจแยก "เหลว" ออกจาก "น้ำ" ได้ ฉันใด สมาธิ และปัญญาก็แยกจากกันมิได้ฉันนั้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้วอย่างชัดเจนว่า
"สมาธิ นั่นแหละคือ ตัวจริง ของปัญญา ในเมื่อปัญญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตังของสมาธิ ในขณะที่เราได้ปัญญา สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือกล่าวกลับกันว่า เมื่อมีสมาธิ เมื่อนั้นก็มีปัญญาดังนี้ก็ได้ ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักดังนี้ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปัญญา
ผู้ศึกษาไม่ควรไปคิดว่า มันมีอะไรแตกต่างกันระหว่างคำว่า "สมาธิทำให้เกิดปัญญา" กับคำว่า "ปัญญาทำให้เกิดสมาธิ" การถือว่าความเห็นแยกกันได้นั้นย่อมสำแดงว่ามันมีอะไรแตกต่างเด่นๆ รู้ถึงสองฝักสองฝ่ายในธรรมะนี้"
      พุทธศาสนิกชนที่ศึกษาสมาธิของพระพุทธศาสนาต่างมีความเชื่อว่า สมาธิ และ ปัญญา เป็นเรื่องที่แยกจากกันและเป็นคนละส่วนกันแต่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพราะเราเชื่อกันตามที่อรรถาจารย์ได้ตีความและแยกแยะออกมาว่า การปฏิบัติธรรมต้องมี "ศีล สมาธิ ปัญญา"
เพราะความเชื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดอาการงมงายกันคนละแบบ
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งศีลนกลายเป็น "บ้าศีล"
บางสำนักบางอาจารย์ก็ เคร่งสมาธิจนกลายเป็น "สมาธิบ้า"
บางสำนัก บางอาจารย์ก็หลงไหลปัญญา จนกลายเป็น "ยโสโอหังมมังการ"
      "อาการบ้าศีล" มิได้มีแต่ในปัจจุบันสมัยเท่านั้น แม้แต่อดีตกาลคนบ้าศีลก็ปรากฏอยู่ทั่วไป คนเหล่านี้ไร้ปัญญาพิจารณาให้เห็นเป็นสัจธรรม เมื่อสมาทานศีล "ปาณาติปาตา" เว้นจากการฆ่าสัตว์น้ำก็ดื่มไม่ได้เพราะในน้ำมีชีวิตสัตว์ อากาศมีเชื้อโรคหายใจเข้าไปก็ฆ่าเชื้อโรค ล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น คนบ้าศีล จึงอยู่ในโลกนี้ และตายไปความทุกข์ทรมาน
อาการ "สมาธิบ้า" นับว่าอันตรายที่สุด เพราะนั่งกันจนเพลิดเพลินหลอกหลอนตัวเองงว่าได้พบ สวรรค์วิมาน ระลึกชาติได้ พบพระพุทธองค์ขนาดได้นั่งฟังพระพุทธองค์เทศนาให้ฟังจนบรรลุมรรคผลนิพพาน
เมื่อสำเร็จเป็นอรหันต์จึงอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ต้องตายภายใน 7 วัน คนบ้าสมาธิจึงพากันฆ่า ลูก ฆ่าเมีย และตัวเองตายตกนรกไป
      ส่วนคน "บ้าปัญญา" ก็ไม่อาจแยกแยะให้เห็นสัจธรรมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ตามที่อาจารย์บอกเล่าแลยึดแต่คำสอนของอาจารย์เป็นสรณะ คำสอนอื่นๆ ไร้สาระ
คนบ้าปัญญาไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง "ความรู้" กับ "ปัญญา" เพราะฉะนั้นจึงมีอาการน้ำล้นแก้ว ไม่ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นเลย
ความจริงแล้ว "สมาธิ" และ "ปัญญา" ถ้าเข้าใจความสมดุลย์ถูกต้องย่อมยังประโยชน์มหาศาลแก่มนุษย์ แต่เพราะความเข้าใจผิดชีวิตของผู้ปฏิบัติสมาธิจึงมีความมืดอยู่ในความสว่าง เพราะเราพากันนั่งเฝ้าก้อนเนื้อกันมานานแล้วนานแสนนานโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ แก่ตัวเองและผู้อื่นเลย

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 36

ตอนที่ 36.... เงินบังโพธิปัญญา
      มนุษย์ผู้หนาแน่นไปด้วยความหลงจึงเชื่อว่า เงินคือพระเจ้าที่สามรถดลบันดาลทุกสิ่งอย่างให้เราได้ เพราะฉะนั้นจึงพากันหลงหาเงินจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรู้จักตัวเองสักนิดหนึ่ง
ผู้หลงเงินจึงทุ่มทั้งชีวิตเพื่อแสวงหาเงินตราโดยไม่เชื่อว่า เงินไม่อาจติดสินบนลดหย่อนโทษของตนในนรกได้เลย เงินยิ่งทำให้คนสร้างบาปเวรกรรมได้รวดเร็วและร้ายแรงจนประมาณไม่ได้
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เงินคืองูพิษ"
      แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่อพระพุทธองค์ จึงทุ่มเทหาเงินเพื่อซื้อความสุข และเพิ่มพูนกิเลสจนกลายเป็นการทำร้ายตัวเองมากมาย และตกนรกหมกไหม้เพราะอำนาจของเงินตรานี่เอง
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงประทานพระวจนะเอาไว้ในโศลกหนึ่งว่า
" ในวันหนึ่งๆ ที่ชีวิตล่วงไป เราควรปฏิบัติความไม่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอ เพราะพุทธภาวะ ไม่มีหวังที่จะได้มาจากการให้เงินเป็นทาน"
ความหมายที่แท้จริงเพื่อให้เราได้รู้ว่าการปฏิบัติให้ถึงซึ่งพุทธภาวะนั้นมิได้อาศัยเงินตราเป็นผู้ดลบันดาลแต่ประการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินตราล้วนแต่ถูกเงินตราหลอกล่อให้สูญเสียสภาวะแห่งความเป็นพุทธะกลายเป็น "อสุรกาย" เพราะเขาจักเป็นผู้ที่ทำบุญและมากไปด้วยอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนที่มีนิสัย ยโสโอหังมมังการ ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนโดยสิ้นเชิง
บุญกริยาทั้งปวงจึงกลายเป็นอกุศลกรรม
      คนมีเงินมักทำบุญเพราะต้องการชื่อเสียง มีหน้ามีตาจึงเป็นผู้ที่เห็นปแก่ตัวและได้รับเสียงสอพลอจากผู้ที่นับถือเงินตราเป็นพระเจ้าเช่นเดียวกัน
ประการสำคัญผู้ที่มีเงินตราไม่ได้สำนึกว่า แท้ที่จริงแล้วเงินตราเหล่านี้ล้วนเป็นผลบุญที่ตนเองเคยสร้างมาเอาไว้ในอดีตชาติด้วยความนอบน้อมและศรัทธาแต่คนหลงเงินตราจึงกลายเป็นศัตรวุธประหารความศรัทธา และความนอบน้อมไปจนหมดสิ้นเพราะเขาเชื่อว่า สวรรค์วิมานสามารถใช้เงินตราซื้อมาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและผู้พ้นจากกองกิเลส อำนาจเงินตราดลบันดาลให้ได้
ผู้ที่ถูกอำนาจเงินตราครอบงำจึงเป็นเพียงผู้สร้างชื่อเสียงในหมู่คนเอาไว้เพียงชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อไปจึงกลายเป็นผู้ยากจนเข็ญใจและโง่เขลาเบาปัญญา
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า
"โพธิปัญญานั้น หาพบได้ภายในใจของเราเอง และไม่มีความจำเป็นเสาะแสวงหาความจริงอันเด็ดขาดของสัจธรรมจากภายนอก"
สัจธรรมล้วนอยู่ในใจของเราทุกคน แต่คนที่เห็นแก่ตัวและละโมบในบุญ จึงเป็นผู้ที่พ้นไปจากหนทางแห่งสัจธรรม เพราะเขาไม่ชอบปฏิบัติจิตเพื่อชำระล้างคราบไคลแห่งความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเพียรพยายามฝืนความเคยชินของกายสังขารซึ่งต้องชำระล้างด้วยตนเอง ไม่อาจใช้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นแทนได้เลย
      เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากราชสมบัติพระองค์ได้สลัดตัดทิ้งทรัพย์สินเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งปวงโดยสิ้นเชิงและเผชิญหน้าต่อความยากลำบากด้วยพระองค์เองเพื่อฝึกฝนกำหราบความเคยชินของความสุขสบายทั้งปวง
ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงมีแต่กายสังขารที่ห่อหุ้มด้วยผ้าห่อศพและมีผืนดินโคลนต้นไม้เป็นที่อาศัยพักพิงจึงเป็นผู้ที่ยากจนเข็ญใจที่สุด
ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ประสงค์แสวงหาหนทางแห่งจิต มิได้ต้องการอาศัยหนทางแห่งกายสังขารเพื่อเสพสุข
หนทางแห่งกายและจิต สวนทางกันเสมอ
กายมีความสุขสบายจิตใจตกต่ำและลุ่มหลง
แต่จิตใจสูงส่งขึ้นเมื่อไร กายย่อมไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยปัจจัยต่างๆ อีกต่อไป
      เมื่อพระองค์ทรงค้นพบ "ธรรมญาณ" พระวรกายย่อมสดใสและพ้นไปจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง พระธรรมญาณ ควบคุมกายสังขาร
หนทางแห่งการบำเพ็ญของพระพุทธองค์จึงกล่าวได้ว่าพระองค์อาศัยพระวรกายบำเพ็ญเพื่อค้นหาหนทางแห่ง "ธรรมญาณ" แต่บรรดาผู้ที่หลงใหลต่อทรัพย์สินทั้งปวงล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ความหลง ความโกรธ อย่างเอกอุ เพราะปรนเปรอความสุขให้แก่กายจึงทำให้สภาวะแห่ง "พุทธะ" หายไปจาก ธรรมญาณ
ความสุขสบายของกายจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจค้นพบ "ธรรมญาณ" ได้เลย
      ในคัมภีร์ใบเบิลแห่งศาสนาคริสต์ ในมัดธาย บทที่ 24 ได้กล่าวเอาไว้ว่า
"ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเองและรับกางเขนของคนแบกตามเรามา...ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด"
การเอาชนะตนเองจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝืนต่อความเคยชินของกายสังขาารโดยแท้ เพราะฉะนั้นตั้งแต่บรรพกาลมาแล้ว ผู้บำเพ็ญล้วนเป็นผู้ที่ต้องละทิ้งเครื่องผูกมัดของทรัพย์สินทั้งปวงจึงจักพบพุทธภาวะของตนเอง
แต่การแสวงหาหนทางเช่นนี้ย่อมยากลำบากนัก ส่วนอาศัยเงินตราสร้างบุญ จึงเป็นเรื่องง่ายดายเพราะฉะนั้นผู้ที่แสวงหาแต่หนทางแห่งความง่ายจึงหลงใหลต่อทรัพย์สมบัติทั้งปวงและเชื่อว่าการทำบุญด้วยเงินมหาศาลย่อมนำพาจิตญาณของตนเข้าสู่พุทธภูมิได้
ถ้าความจริงเป็นเช่นนี้ฟ้าดินย่อมไร้สัจธรรมเพราะคนรวยย่อมขึ้นสวรรค์ตลอดกาล คนจนย่อมตกนรกไม่สิ้นสุด

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 35

ตอนที่ 35.... บัวสีแดงเหนือตมสีดำ
      ผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการหลับหูหลับตาย่อมมองไม่เห็นสัจธรรมมีแต่พบความผิดของผู้อื่นตลอดกาลแต่ไม่เคยค้นพบความผิดของตนเองจึงถือว่าเป็นผู้หลงทางอันแท้จริง
สมัยหนึ่งพระเยซูได้อัญเชิญมาตัดสินคดีความหญิงคบชู้นางหนึ่งซึ่งชาวบ้านได้มัดไว้กลางลานรอคำพิพากษาจากพระเยซู
เมื่อพระเยซูเสด็จมาถึงจึงตรัสแก่หมู่ชนเหล่านั้นว่า
"นางผู้นี้สมควรได้รับโทษทัณท์สถานหนักตามประเพณีโดยใช้หินขว้างจนตายไป แต่ขอถามหน่อยว่า ใครคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ไม่มีความผิดบาปเลย จงหยิบหินก้อนแรกปาไปที่นางคนนี้เถิด"
พระวจนะเพียงเท่านี้ได้เปิดให้จิตใจของคนขณะนั้นได้รู้สำนึกทันทีว่าแท้ที่จริงเรามีผิดบาปด้วยกันทั้งนั้นต่างจึงถอยหนีไปไม่มีใครกล้าหยิบก้อนหินปาแม้แต่คนเดียว หญิงผู้นั้นจึงรอดตายไปด้วยปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า
      สมัยนั้นการศึกษามิได้เจริญเช่นสมัยนี้ และพระเยซูได้รับการศึกษาไม่ว่าจะเป็นศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่เหตุไฉนปัญญาของพระองค์จึงมีอานุภาพเช่นนี้ ถ้าไม่เป็นเพราะพระองค์ทรงได้รับศีลจุ่มจากนักบุญโยฮัน ณ แม่น้ำจอร์แดน ก็ยากที่จะหาคำอธิบายถึงปัญญาอันประเสริฐนี้ได้เลย
การได้รับศีลจุ่มในขณะนั้น พระเยซูได้เปล่งพระวาจาออกมาว่า
"ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เบิกกว้างขึ้น พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมารวดเร็วดั่งนกพิราบเข้ามาสถิตในพระองค์" พระผู้เป็นเจ้าก็คือ "ธรรมญาณ" ของตนเองและมีจุดกำเนิดมาแต่เบื้องบนซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมดและทรงอานุภาพเท่าเทียมกันเพียงแต่ว่าใครค้นพบความมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ของตนได้เท่านั้นเอง
ถ้าปัญญาอันเกรียงไกรนี้มีแต่เฉพาะพระเยซูเท่านั้น บรรดาชนทั้งปวงฟังพระวจนะจะไม่มีปัญญาแยกแยะได้เลยว่า ตนเองนี้ล้วนมีผิดบาปเฉกเช่นหญิงคบชู้รายนั้น ชนทั้งปวงก็ไม่สะเทือนใจและคิดว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ พระวจนะของพระเยซูย่อมไร้ความหมายอย่างแน่นอน
      ท่านฮุ่ยเหนิง พระธรรมาจารย์จึงกล่าวเอาไว้ในโศลกว่า
"ถ้าเรามีความเพียรรอคอยจนได้ไฟซึ่งเกิดจากการเอาไม้มาสีกัน เมื่อนั้นบัวสีแดงอันเป็นพุทธภาวะก็จะโผล่ออกมาเองจากตมสีดำ"
ความหมายแห่งพระวจนะนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าภาวะแห่งการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานจนกิเลสมีอยู่แล้วในทุกตัวตน ไม่ว่าผู้นั้นจักต่ำต้อยด้วยฐานะแห่งกายสังขารหรือปัญญาญาณเพียงแต่ว่า ผู้นั้นมีความเพียรพยายามขัดสีให้ กิเลส ทั้งปวงหลุดออกไปจากธรรมญาณก็สมารถใช้ปัญญาอันยิ่งยงได้เท่าเทียม เพราะต่างมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์เท่ากัน
การขัดสีเพื่อให้กิเลสลดน้อยลงไปย่อมต้องอาศัยผู้อื่นเป็นสะพานเพื่อให้เห็นถึงความผิดบาปของตนเองอันเป็นความมืดบอดทางปัญญาเสมือนหนึ่งเมฆหมอกปิดบังความสว่างไสวของดวงอาทิตย์ ดังนั้นคำตักเตือนหรือแม้แต่คำตำหนิของผู้อื่นจึงเป็นประโยชน์มหาศาลในอันที่จะขจัดกิเลสของตนเอง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"สิ่งที่เป็นรสขมย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี
สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหูนั้น คือคำเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง เพื่อแก้ไขความผิดให้กลับเป็นของถูก
เราย่อมได้สติปัญญา
      แต่การต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวเองไว้ เราได้แสดงความหมายแห่งความมีจิตผิดปกติออกมา"
คนในโลกนี้ต่างมีความต้องการเหมือนกันคือ คำสรรเสริญและเสียงตำหนิว่ากล่าวผู้อื่นเสมอ แต่ผู้บำเพ็ญปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นหนทางแห่งการรู้แจ้งในธรรมญาณย่อมต้องปฏิบัติตรงข้ามกับปุถุชนคือความยินดีในเสียงตำหนิตนเอง และเสียยงสรรเสริญผู้อื่น
เสียงตำหนิว่ากล่าวผู้อื่นย่อมเป็นเฉกเช่น ยาชำระล้างความสกปรกภายในจิตญาณ แต่เสียงยกย่องเป็นเช่นยาพิษ เพราะทำให้กลายเป็นผู้ที่ยะโสโอหังได้ง่ายที่สุด เห็นตนเองอยู่ในฐานะเหนือกว่าผู้อื่นจึงกลายเป็นผู้หลงทางอย่างแท้จริง
เมื่อมีผู้มาชี้ให้เห็นความผิดเรามักป้องกันตัวด้วยการโต้ตอบด้วยอาการรุนแรงเกินปกติ
เพราะฉะนั้นบรรดาชนที่เชื่อว่าตนเองบริสุทธิ์ จึงพยายามประกาศความบริสุทธิ์และป้ายสีความสกปรกให้แก่ผู้อื่นเสามอไปเขาเหล่านี้จึงเป็นเช่นคนผิดปกติ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมทุกวันนี้ เพราะไม่เคยชำระล้างความสกปรกเลอะเทอะของตนเอง แต่กลับนำเอาความสกปรกเหล่านั้นไปป้ายให้ผู้อื่น
      พระพุทธองค์ได้ประทานพระวจนะอันยิ่งใหญ่ไว้ว่า
"ผู้ที่โทษเรา จึงเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐ"
ความผิดบาปที่เราหลงสร้างเอาไว้ล้วนเป็นการกระทำที่ไม่รู้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้ารู้ก็เป็นความหลงที่คิดว่าเป็นคนดีและความถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงกระทำและสั่งสมผิดบาปเอาไว้มากมายโดยไม่เคยชำระล้าง
แต่เมื่อใดที่ได้น้อมฟังคำเตือนจากผู้อื่นแล้วนำมาพิจารณาด้วยตนเองปัญญาที่แยกแยะออกย่อมเป็นเสมือนหนึ่ง ดอกบัวสีแดงที่โผล่พ้นมาจากตมสีดำ นั่นเอง

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 34

ตอนที่ 34.... ความเป็นธรรม
      มนุษย์มีความเสมอภาคกันด้วยดวงธรรมญาณเพราะเวลาทิ้งกายสังขารไม่ว่ารวยล้นฟ้าก็มได้เขียนเช็คติดมือไปเลย ยาจกเห็นใจตายก็มิได้ถือกะลาติดมือไปด้วยต่างต้องลงไปตัดสินความดี ความชั่ว กันในนรกเยี่ยงเดียวกัน
แต่มนุษย์มาเหยียดหยามแบ่งแยกชนชั้นกันด้วยสิ่งจอมปลอมนอกกายทั้งสิ้น
ใครมีเงินมากกว่าถือว่าดีกว่า
ใครมีความรู้มากถือว่าเก่งกว่า
      ความรู้ในโลกมิอาจช่วยให้ตัวเองพ้นไปจากนรกได้เลย เพราะฉะนั้นความรู้จึงเป็นเพียงสัญญาที่หลงมัวติดยึดเอามาแบ่งแยกเหยียดหยามกันเท่านั้นเอง
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจึงมองเห็นทุกคนเสมอกันโดยมีทุกข์ร่วมกันเพราะฉะนั้นจึงมีเมตตาต่อกันได้และความเป็นธรรมที่แท้จริงปรากฎขึ้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวโศลกเอาไว้ว่า
"สำหรับหลักของความเป็นธรรมนั้น ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยซึ่งกันและกันได้ในยามคับขัน"
เมื่อถึงภาวะที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้เพราะตกอยู่ในภัยพิบัติ ความรู้สึกของการแบ่งแยกเหยียดหยามย่อมมลายไปเพราะต่างปรารถนาหาหนทางรอดพ้นจากความตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญปฏิบัติที่รู้ความเป็นจริงแห่งสัจธรรมย่อมไม่แบ่งแยกชนชั้น แต่บรรดาผู้ที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ด้วยสำคัญตนว่าเป็นผู้ที่เหนือกว่าชนทั้งหลายล้วนแต่ไม่เคยปฏิบัติความเป็นธรรมให้เป็นจริงขึ้นมาได้เลย
ผู้ที่รู้ธรรมญาณเท่านั้นจึงเห็นมนุษย์มีความเท่าเทียมกัน
      สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งญาณไปพบหญิงชราผู้ยากจนอยู่ในกระท่อมใกล้ถึงกาล
มรณะแล้ว พระพุทธองค์ทรงเมตตาจึงเสด็จไปหน้ากระท่อมของหญิงชราแล้วตรัสว่า
"เธอจงทำบุญกับตถาคตแล้วสุคติจักเป็นที่หมาย"
"ข้าพระองค์ยากจนเข็ญใจนักไม่มีสิ่งใดจักถวายแด่พระสมณะได้เลย"
"เธอมีน้ำมิใช่หรือ จึงตักน้ำใส่บาตรตถาคตเถิด"
      หญิงชรานั้นมีความศรัทธาปสาทะในกุศลผลบุญครั้งนี้ยิ่งนักเมื่อตักน้ำถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ถึงกาลมรณะจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดาบนสรวงสวรรค์
พระพุทธองค์ทรงยืนเคียงข้างเวไนยสัตว์ด้วยเมตตาพร้อมฉุดช่วยให้พ้นไปจากอบายภูมิ แต่บัดนี้การบำเพ็ญของเหล่าศากยบุตรล้วนผิดแผกและหลงติดอยู่ในความจอมปลอมของนอกกายทั้งสิ้น ใครเป็นเศรษฐีมีโอกาสได้ใกล้ชิดส่วนคนยากจนเข็ญใจไม่มีโอกาสได้รับเมตตาเลย เพราะฉะนั้นนับวันศาสนาก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่เรียกร้องต้องการเงินมากกว่าการแจกจ่ายพระธรรมคำสอนเพื่อให้ชนทั้งปวงพ้นทุกข์
บางวัดจึงตั้งเป้าของการหาเงินเข้าวัดเป็นร้อยล้านพันล้านเพียงเพื่อเสริมสร้างฐานะยกย่องตนเองอยู่สูงส่งจนขาดความเป็นธรรม เพราะมิได้ยืนอยู่เคียงข้างศาสนิกชนอีกต่อไป แต่ยืนเคียงข้างคนรวยเพียงพวกเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการเผยแพร่ศาสนาบางแห่งจึงขาดความปรารถนาดีต่อศาสนิกชนของตน เลือกที่รักมักที่ชังจนเห็นกันชัดเจน
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกว่า
"สำหรับหลักแห่งการปรารถนาดีต่อกันผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโสต้องสมัครสมานกัน"
ในวงการของผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีผู้อาวุโสและอ่อนอาวุโสซึ่งในทางธรรมย่อมไม่เพ่งเล็งที่อายุแต่อาศัยการเป็นผู้ปฏิบัติก่อนรู้ก่อนย่อมเป็นผู้อาวุโส
และทั้งสองฝ่ายสามารถสมัครสมานกันด้วยคุณธรรมของทั้งสองฝ่ายคือ อาวุโส ต้องเมตตาต่อผู้อ่อนอาวุโส
ส่วนผู้อ่อนอาวุโสต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพผู้อาวุโสการสมัครสมานจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้เป็นจริงได้
และทั้งสองฝ่ายย่อมต้องอดทนซึ่งกันและกัน
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวโศลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"สำหรับหลักของขันติ เราไม่ให้มีการทะเลาะกัน แม้อยู่ท่ามกลางของหมู่ศัตรูอั้นกักขฬะ"
      ในหมู่ของผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งยังไม่พบธรรมญาณย่อมต้องอาศัยขันติคือ ความอดทนเป็นที่ตั้งแต่สำหรับผู้ที่พบธรรมญาณความอดทนย่อมเป็นสิ่งว่างเปล่าเพราะเขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น อนัตตา       แม้ตัวตนของตนก็ว่างเปล่าเพราะฉะนั้นแม้ตกอยู่ท่ามกลางศัตรูอันหยาบช้านักปฏิบัติธรรมก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะแบะแว้งกับใคร
      ผู้เข้าถึงธรรมญาณ สภาวะแห่งความเป็นฟ้าอันกว้างใหญ่หาขอบเขตมิได้ย่อมปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันกับใครเลย ดังคำกล่าวที่ว่า
"แม้เราแหงนหน้าด่าฟ้าอย่างไร ฟ้าก็มิเคยตอบโต้เลย"
แต่เมื่อใดความไม่เป็นธรรมปรากฏ เมื่อนั้น ลมพายุร้ายย่อมเป็นสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติทั้งปวง เฉกเช่นเดียวกับจิตใจที่ปรวนแปรนั่นแล

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 33

ตอนที่ 33.... ไหว้พระในบ้าน
      ปุถุชนผู้หลงงมงายชอบไหว้แต่พระนอกบ้านด้วยความเคารพและคลั่งไคล้เพราะเชื่อว่าสามารถพึ่งพาความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระที่ไร้รูปลักษณ์แต่สมบูรณ์แบบด้วยนามธรรมแห่งความเป็น "พระ" โดยแท้จริง
"พระในบ้านสององค์คือใคร" ถาม
"พระพ่อกับพระแม่ ยังไง" ตอบ
      แม้พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องพ่อแม่ว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะมีพระคุณล้นเหลือจนยากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนพระคุณอันหาขอบเขตที่สิ้นสุดมิได้เลย
แต่ปุถุชนมองข้ามความสำคัญของพ่อแม่เพราะไม่เห็นเป็นพระแต่เห็นเป็นคนเช่นเดียวกัน ปุถุชนจึงยึดถือรูปแบบมากกว่า นามธรรม เขาเหล่านั้นจึงเป็นคนอกตัญญู แต่กลับขยันไปไหว้พระและรับใช้พระนอกบ้านอย่างสุดหัวใจ ส่วนพระในบ้านกลับทอดทิ้งและดูถูกดูแคลน
ผู้ที่ปฏิบัติพระในบ้านเช่นนี้ แม้ไปไหว้พระนอกบ้านสักหมื่นแสนองค์ก็หาความเจริญรุ่งเรืองหรือปลอดภัยให้แก่ตนเองมิได้เลย
แต่ผู้ที่ปฏิบัติต่อพระในบ้านด้วยความเคารพสูงสุด เอาใจใส่ดูแลด้วยความจริงใจเขาย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญและเป็นสง่าราศรีแก่ตนเอง ชีวิตมีความปลอดภัย ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้
      ในสมัยโบราณผู้ที่เป็นทหารออกศึกมิได้แขวนพระเครื่องแต่เอาผ้าถุงของแม่โพกหัวไป ปรากฏว่าปลอดภัยกลับมาทุกคนที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นคนที่กตัญญูต่อบิดามารดาของตนเองย่อมที่
สรรเสริญของเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง แม้ไม่ต้องกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นพระองค์ก็อดไม่ได้ที่จะต้องอำนวยชัยให้พรและคุ้มครอง
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกพระองค์ในสมัยที่เป็นมนุษย์พระองค์มีความกตัญญูจึงย่อมสะเทือนถึงฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมีคำกล่าวว่า
"ผู้มีความกตัญญูอันแท้จริงแม้ไม่ปฏิบัติธรรมยังได้อริยะฐานะ"
ความกตัญญูจึงเป็นธรรมอันสูงสุดที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในครัวเรือน และความสันติสุขจักเกิดขึ้นในบ้านของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระองค์ใดมาปกปักรักษา
แท็กซี่คนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า
      วันหนึ่งตอนดึกแล้วรับผู้โดยสารเป็นวัยรุ่น 4 คนไปส่งในที่เปลี่ยวพอรถไปจอดส่งเท่านั้นแหละ วัยรุ่นคนหนึ่งก็สำแดงความชั่วร้ายออกมาทันทีโดยชักมีดปลายแหลมจี้เพื่อปลดทรัพย์สิน ขณะที่ตกใจกลัวอยู่นั้นก็ได้สตรำลึกถึงพ่อแม่ว่า
"คุณพ่อ คุณแม่ช่วยลูกด้วย"
สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดทันที เพราะวัยรุ่นเหล่านั้นเดินลงจากรถไปโดยไม่แตะต้องทรัพย์สินหรือชีวิตของโซเฟอร์เลย
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงได้ให้พระวจนะในเรื่องนี้ว่า
"สำหรับหลักแห่งการกตัญญูกตเวที เราจักเลี้ยงดูรับใช้ท่านอย่างฐานลูก"
ความหมายแห่งคำกล่าวนี้ลึกล้ำนัก ถ้าพิจารณาตามตัวอักษรหามีความหมายพิเศษแต่ประการใดไม่ แต่สมควรนำคำกล่าวของพระศาสดาแห่งศาสนาปราชญ์คือ ท่านขงจื๊อมาพิจารณากัน เพราะท่านได้กำหนดกฏเกณฑ์แห่งการกตัญญูเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนลึกซึ้งถึง 5 ข้อ
1. อยู่กับพ่อแม่หรือ พ่อแม่อยู่กับเรา ต้องให้ความเคารพ
2. เลี้ยงดูต้องให้ได้รับความสุข
3. เมื่อพ่อแม่ป่วยไข้ต้องห่วงใยกังวล
4. เมื่อพ่อแม่สิ้นไปต้องอาลัยโศกเศร้า
5. บูชาเซ่นไหว้ให้สมฐานะ
      คนสมัยนี้จิตใจตกต่ำเพราะความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาหลอกลวงจิตให้ใฝ่ต่ำจนเห็นพ่อแม่ของตนเองโง่กว่าเพราะฉะนั้นไม่วว่าจะอยู่กับพ่อแม่หรือพ่อแม่อยู่ด้วย คนส่วนใหญ่ก็มิได้ให้ความเคารพ บางรายกลับใช้พ่อแม่เยี่ยงคนใช้ชั้นดี เพราะพ่อแม่แก่แล้วไม่มีทางไปไหน จึงให้เฝ้าบ้านจึงเลี้ยงลูกของตนเอง ทำครัว ซักเสื้อผ้า
คนที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่เช่นนี้ถือว่าขาดความเคารพอย่างแท้จริงและในที่สุดความตกต่ำเสื่อมทรามก็จะมาเยือนตนเอง
      สมัยโบราณมีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งทรงนามว่าโจวอุ๋นอ๋อง พระองค์ได้รับการเฉลิมพระเกียรติว่า ทรงบารมีคุณอันยิ่งใหญ่ ปกแผ่ถึงลูกหลานยาวนานถึง 837 ปี
พระอริยาวัตรอันสำคัญยิ่งของพระองค์คือ ความกตัญญู จนได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่มีความกตัญญูอันยิ่งใหญ่
ทุกวันสามเวลา พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อพระบิดา พระมารดาสม่ำเสมอด้วยความเคารพและนอบน้อมจริงใจ
พระองค์สังเกตการเสวยพระกระยาหาารของพระบิดามารดาจึงรู้ว่าสิ่งใดทรงโปรดเสวยหรือไม่ แม้เจ็บไข้ก็ทรงดูแลใกล้ชิดมิได้ห่างไกลเลย
"บารมีคุณนี้จึงได้รับการจารึกเอาไว้ชั่วกาลนาน"
      แต่คนสมัยนี้ พ่อแม่ รู้ว่าเราชอบกินอะไร แต่ถ้าถามกลับว่าพ่อแม่ของเราชอบกินอะไร คำตอบที่ได้ก็คือ "ไม่ทราบ"
กตัญญุตาธรรม จึงเป็นธรรมคู่กับมนุษย์โดยแท้จริง ใครไม่ปฏิบัติเขาจึงมีค่าต่ำกว่า สัตว์เดรัจฉาน เสียอีก

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 32

ตอนที่ 32.... ถือศีลแต่ตกนรก
      ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ก็ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด
ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้ามิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน
      ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม
ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันทีว่า "อย่าทับ อย่าทับ"
วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า "ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น" ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้าและมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด
      แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมทานจึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสสทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้ บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัดก็แย่งกันนินทาหรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้  ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมั่นมีมาเองแม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ"
      ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่วย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหนความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง
อำนาจจิตสามารถ สร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ
      การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงต่อความคิด
วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง
      ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
คำกล่าวของพระอริยเจ้า เหลาจื๊อ แสดงให้ประจักษ์ชัดมานานนับเป็นพันๆ ปีว่า
"ธรรมแท้ ไม่อาจกล่าวออกมาเป็นวาจาได้ ที่กล่าวออกมาจึงมิใช่ธรรมะ"
      การแสดงออกทั้งปวงที่ที่ปรุงแต่งออกมาจากจิตจึงผิดเพี้ยนไปจากธรรมะเพราะฉะนั้นฌาน ตามธรรมชาติของธรรมญาณ จึงไม่อาจปรากฏออกมาได้
ญาณ ที่กำหนดขึ้นด้วยจิตของตนเอง ย่อมผิดแผกไปจาก ฌานที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญที่กำหนดญาณด้วยแรงภาวนาของตนเองจึงเป็น ฌาน เกิดขึ้นได้และเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเป็นฌาน ที่กำหนดด้วยรูปแบบจึงมิใช่ของจริงตามสัจธรรม
ศีลและฌาน จึงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพียงแต่ค้นพบธรรมญาณของตน ทุกสิ่งอย่างก็จักบริบูรณ์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วมิใช่หรือ

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 31

ตอนที่ 31.... บำเพ็ญในครัวเรือน
      การบำเพ็ญธรรมที่ติดอยู่ในรูปแบบได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและปฏิบัติผิดกันมานจนกลายเป็นวิถีชีวิตสองแบบกล่าวคือ ผู้บำเพ็ญธรรมต้องบวชและอยู่ในอารามเฉพาะส่วนแยกออกจากชาวบ้านอย่างหนึ่งกับชีวิตชาวบ้านที่อาศัยคำสอนของนักบวชเหล่านั้นมาปฏิบัติซึ่งก็เชื่อกันว่าวิถีชีวิตของปุถุชนเต็มไปด้วยบาปไม่มีทางพ้นจากนรก อีกอย่างหนึ่ง
      วิถีชีวิตในครัวเรือนเป็นเรื่องของชาวโลกีย์เพราะฉะนั้นครัวเรือนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสะพานทอดเดินไปสู่นรกสถานเดียว
ชาวพุทธจึงเชื่อว่าผู้ครองเรือนไม่อาจบำเพ็ญธรรมได้
ความเชื่อเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฐิคือ ความเห็นผิดโดยแท้ เพราะธรรมะมิใช่ของนอกตัว แต่มีอยู่ในตัวทุกคน
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนเมื่อประมาณพันกว่าปีมาแล้วว่า
"ผู้ใดอยากบำเพ็ญธรรมหรือปฏิบัติทางจิต จะทำอยู่ที่บ้านก็ได้ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสังฆาราม พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น อาจเปรียบได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกทที่ใจบุญส่วนพวกที่อยู่ในสังฆารามแต่ละเลยปฏิบัติธรรมก็ไม่แตกต่างอะไรกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตกแต่ใจบาป เพราะฉะนั้นไม่ว่า จักอยู่ที่ใด ถ้าจิตบริสุทธิ์ ณ ที่นั้นก็เป็นแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหมายถึง ธรรมญาณ ของบุคคลนั้นเอง"
      ความหมายแห่งวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงย่อมเป็นที่สอดรับกับความเป็นจริงว่า การปฏิบัติบำเพ็ญธรรมมิได้อยู่ที่รูปแบบและสถานที่
เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มาถึงแม่น้ำอโนมาก็เพียงเปลื้องเครื่องทรงของงกษัตริย์ออกและตัดพระเมาฬีและนำผ้าห่อศพมาพันพระวรกายและมุ่งหน้าหาความรู้เพื่อพ้นจากทะเลทุกข์
การดำรงชีพของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ บัดนี้ไม่ต่างอะไรกับขอทานปรราศจจากเครื่องอำนวยความสะดวกและผู้คทั้งปวง
เหตุไฉนจึงต้องทรงปฏิบัติเช่นนี้ เพราะเป็นไปตามกาลกำหนดของเบื้องบนและความผันแปรของธรรมกาลซึ่งแบ่งออกเป็นสามยุค
ยุคแรก เป็นยุคเขียว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ ฮ่องเต้ ซึ่งได้ชื่อว่าโอรสสวรรค์
ยุคสอง เป็นยุคแดง ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ อริยะบุคคล ซึ่งได้ชื่อว่า ปราชญ์ เมธี
ยุคสาม เป็นยุคขาว ผู้บำเพ็ญปฏิบัติคือ สาธุชน ซึ่งได้ชื่อว่า นักธรรม
      พระพุทธองค์ทรงมีพระภารกิจตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อนำพาเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้ข้ามพ้นไปจากททะเลทุกข์ ในครั้งนั้นสังคมของชมพูทวีปยังแบ่งแยกออกเป็นววรรณณะชั้นแตกต่างกันไม่ยอมมีสังคมร่วมกันคือ กษัตริย์ พราหมณ์ ไวทยะ ศูทร และ วรรณะ ที่ต่ำสุดอันเกิดจากกาารผสมข้ามวรรณะกันก็ได้ลูกออกมาเป็นจัณณฑาลจึงเป็นความจำเป็นที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดรูปแบบใหม่ให้ทุกวรรณะสามารถหลอมละลายกลายเป็นชนชั้นเดียวกันได้
รูปแบบนักบวชของพระพุทธองค์ทรงมีความหมายเช่นนี้มิได้มีไว้เพื่อติดยึดแต่ประการใด
      แต่ในชั้นหลังต่างไม่เข้าใจความมุ่งหมายแต่กลับกลายเป็นรูปแบบที่ยึดและเชื่อกันว่าการสำเร็จธรรมต้องอยู่ในรูปแบบของนักบวช
และสัจธรรมก็แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์พยานว่า แม้อยู่ในรูปแบบของนักบวชแต่ไม่ปฏิบัติบำเพ็ญยังต้องจรลีลงนรกโลกันต์มากมายสุดคณานับ
ข้าหลวงอุ๋ยได้กราบเรียนถามพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงว่า
"พวกเราทั้งลายที่เป็นคฤหัสควรฝึกอย่างไร เมื่ออยู่ที่บ้านจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ" ครั้งนั้นพรระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงตอบว่า
"อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง ถ้าท่านทั้งปวงเก็บเอาไปศึกษาและนำข้อความเหล่านี้ออกมาปฏิบัติแล้ว ก็จักเป็นเช่นเดียวกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิจเหมือนกันในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ปฏิบัติท่านก็หาความเจริญทางจิตไม่ได้ แม้ว่าท่านจะโกนหัวสละบ้านเรือนออกแสวงหาบุญ"
      เมื่อการบำเพ็ญธรรมติดอยู่ที่รูปแบบมมิได้ค้นคว้าสนใจปฏิบัติที่จิตความฟั่นเฝือผิดเพี้ยนจึงเกิดขึ้นมากมาย เพราะรูปแบบมิได้อยู่ที่การมองเห็นจับต้องได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปแบบที่จิตสร้างขึ้นยังมีอีกมมากมายจนประมาณมิได้
ผู้บำเพ็ญปฏิบัติจึงเดินผิดหนทางไปตามที่อาจารย์ต่างๆ ได้กำหนดแบบและเหมาเอาว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติเอาไว้
นักบวชฉลาดแต่งตัวประหลาดกว่าคนอื่นๆ ก็กลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จึงแห่แหนกันไปกราบไหว้บูชา
นักบวชแสดงวัตรปฏิบัติเคร่งแต่รูป ส่วนจิตใจสกปรกคนก็แห่แหนกันไปกราบกราน
      อาการผิดเพี้ยนทางพระพุทธศาสนาปรากฏขันมากมายจนหนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็ลบเลือนไป มีแต่หนทางสร้างลาภยศสรรเสริญกันสถานเดียว
เพราะมิได้ปฏิบัติกันทที่จิตอันถูกต้องนักบวชจึงหันมาเอาแบบอย่างของฆราวาสจนศาสนาได้เหลือแต่เพียงรูปแบบ กลายเป็นพุทธพาณิชย์สร้างความร่ำรวยและกิเลสกองท่วมทับพุทธศาสนิกชน
การบำเพ็ญธรรมจึงต้องหันมาที่ตัวเองและในครัวเรือน

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 30

ตอนที่ 30.... แสงแห่งพระพุทธะ
      มนุษย์ปุถุชนซึ่งถูกกิเลสครอบงำ "ธรรมญาณ" อย่างหนาแน่นจึงไม่อาจพบแสงแห่งพระพุทธะได้ บุคคลเหล่านี้จึงมีแต่ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก
เมื่อเห็นสิ่งใดที่ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ แต่ผู้อื่นกระได้จึงพากันกราบไหว้อ้อนวอนให้ผู้นั้นปกปักรักษา เขาจึงกลายเป็นผู้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปโดยสิ้นเชิง
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน สาธุคุณจิม โจนส์ เจ้าลัทธิวิปริตแห่งสหรัฐอเมริกา เผลแพร่วันสิ้นสุดของโลกจนได้สาวกมากมายและกำหนดหมายให้สาวกทั้งปวงฆ่าตัวตาย เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าปรากฏว่ามีผู้ยอมฆ่าตัวตายหลายพันคน
      ความหลงที่ปิดบัง "ธรรมญาณ" แห่งตนได้ก่อให้เกิดการกระทำที่น่าหัวเราะเยาะมากมาย เช่น ผู้คนพากันเช่ารถบัสมุ่งหน้าไปที่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้เพราะข่าวเล่าลือว่าหมาออกลูกเป็นคนต่างจึงกราบไหว้บูชาเพียงเพื่อขอเลขแทงหวย ทั้งๆ ที่ลูกหมานี้พิการมีสองขาหน้าแบนๆ และตายแล้ว
      ข่าวเช่นนี้ปรากฏขึ้นบ่อย บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมูออกลูกเป็นหมาหรือเป็นช้าง ต้นไม้แปลกประหลาดพิสดาร ล้วนเครื่องชี้ให้เห็นว่าความหลงมิได้เหือดแห้งไปจากโลกนี้
แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่นับถือตัวเองชนิดหลงใหลในความดีงามหรือความสามารถที่เหนือผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้หลงสิ่งอื่นเช่นกัน
เขาเหล่านั้นจักสร้างบาปเวรกรรมอย่างประมาณมิได้
มีแต่ผู้พบ "ธรรมญาณ" เท่านั้นจึงมีความเสมอภาคเพราะเห็นผู้อื่นมีทุกอย่างเหมือนตนเอง
      พระพุทธองค์ทรงงยืนยันถึงความเสมอภาคของเวไนยสัตว์ว่ามิได้มีอะไรแตกต่างกันเลย เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีแหล่งกำเนิดที่เดียวกันแลมีสภาวะ คุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ พระอริยเจ้ากล่าวว่า
"วางมีดลงจึงเป็นพระพุทธะ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงให้คำอธิบายเกี่ยวกับ "ความรู้แจ้ง" เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
"ภายในธรรมญาณย่อมมีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้ซึ่งสามารถส่องแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตูและควบคุมมันให้บริสุทธิ์"
พระวจนะนี้มีความหมายว่าทุกคนมีความสามารถรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง ควบคุมความเคลื่อนไหวแห่งจิตมิให้เกิดกิเลสคือความสกปรกมาทำลายความบริสุทธิ์แห่งพุทธจิต
ประตูทั้งหกซึ่งเปรียบเสมือนมหาโจรคือ ตา หู จมูก ปาก กาย และจิต ซึ่งเป็นหนทางพาให้ความโลภ โกรธ หลง ไหลวนเวียนเข้าไปในธรรมญาณจนกลายเป็นคนหลง
อายตนะทั้งหกประการนี้ล้วนเป็นต้นกำเนิดก่อให้เกิดอารมณ์สามระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด แล้วแต่อำนาจการปรุงแต่งของจิตญาณที่สั่งสมเอาไว้มากมาย ทั้งปัจจุบันชาติและอดีตชาติ
จิตที่ปรุงแต่งอารมณ์ทั้งปวงและสั่งสมจนกลายเป็นอนุสัยนอนเนืองอยู่ในขันธสันดานได้กลายเป็นวาสนาบารมีติดตามไปชาติแล้วชาติเล่าแม้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว วาสนาบารมีก็ติดตามมา เช่น พระสารีบุตร
      ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีท่านหนึ่งเกิดจิตศรัทธาใคร่ถวายผ้าจีวรสามผืนแด่พระสารีบุตร จึงนิมนต์ให้พระสารีบุตรไปรับประเคนที่บ้านของตนระหว่างทางต้องข้ามท้องร่อง พระสารีบุตรกระโดดข้ามด้วยความว่องไวเศรษฐีรู้สึกขัดใจจึงคิดว่า สมณะรูปนี้ไม่สำรวมเลย
"เราจักถวายผ้าเพียงสองผืนเท่านั้น" เศรษฐีคิดในใจ
      เมื่อเดินทางผ่านท้องร่องที่สอง พระสารีบุตรก็ยังคงกระโดดข้ามอีก เศรษฐีจึงกำหนดหมายว่าจักถวายผ้าเพียงผืนเดียวเท่านั้น
แต่พอผ่านมาถึงท้องร่องที่สาม พระสารีบุตรไม่กระโดดข้ามกลับเดินอ้อมไปอย่างสำรวม เศรษฐีจึงถามด้วยความแคลงใจว่า
"ทำไมท้องร่องนี้พระคุณเจ้าจึงไม่กระโดดเล่า ขอรับ"
"อ้าว ถ้าอาตมากระโดดข้ามท้องร่องนี้โยมก็ไม่ได้ถวายผ้า แน่ะซี"
      พระสารีบุตรในอดีตชาติได้ถือกำเนิดเป็นวานรเพราะฉะนั้นนิสัยกระโดดโลดเต้นจึงติดตัวมา แม้ในปัจจุบันชาติสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่อาจตัดวาสนาแห่งวานรได้อย่างหมดจด
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงแสงแห่งการตรัสรู้ว่า
"แสงนี้แรงมากพอที่จะผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก และเมื่อมันย้อนกลับเข้าไปภายในธรรมญาณมันจะกลับธาตุอันเป็นพิษทั้งสามประการให้หมดไปและชำระล้างบาปที่ทำให้ตกนรกหรืออบายภูมิและทำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นแก่เราภายใน ภายนอก จนกระทั่งไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์ ทางทิศตะวันตก แต่ถ้าไม่ฝึกตัวเสียแล้วเราจักบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไร"
      ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวไว้เช่นนี้เพราะการรู้แจ้งธรรมญาณแห่งตนเปรียบประดุจดังการตรัสรู้ และตัดการเวียนว่ายตายเกิดหกช่องทางได้เด็ดขาด แม้พิษร้ายสามประการอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็ขจัดให้หมดสิ้น
การเกิดในแดนบริสุทธิ์ทิศตะวันตกนั้นได้กำหนดหมายเอาไว้ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธเกษตร แต่พระธรรมาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริงถ้าไม่พบธรรมญาณของตนเอง มณฑลแห่งจิตของตนเองก็มืดมิดมิใช่พุทธเกษตร ให้กราบไหว้พระพุทธเจ้ากี่แสนพระองค์ก็ไม่อาจพบพุทธภูมิ
พิษร้ายสามประการและการเวียนว่ายทาง หู ตา จมูก ปาก สะดือ และกระหม่อม จึงเป็นหนทางหลงซึ่งไม่มีผู้วิเศษใดสามารถดลบันดาลให้พ้นไปได้เลย

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 29

ตอนที่ 29.... มนุษย์นคร
      ความว่างก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ถ้าปราศจากความว่างเสียแล้วสรรพสิ่งมิอาจถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดาวน้อยใหญ่ในจักรวาลนี้ล้วนมีความว่างเป็นปัจจัยสำคัญ จึงกำเนิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้
ธรรมญาณของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะมีความว่างจึงสามารถปรุงแต่งสรรพสิ่งได้มากมายจนมิอาจประมาณได้เลย
ใครสามารถเข้าถึงความสามารถเดิมแท้แห่งธรรมญาณได้ก็จักเข้าใจจักรวาลนี้เช่นเดียวกันเพราะอำนาจการปรุงแต่งมิได้แตกต่างไปจากความว่างอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเลย
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าศึกษาว่า
"ตัวของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเฉกเช่นประตูเมือง ประตูนอกมี 4 ประตู ซึ่งเป็นอำนาจการปรุงแต่งสำหรับนึกคิด
ใจนั้นเป็นแผ่นดิน ส่วนธรรมญาณเป็นเช่นพระเจ้าแผ่นดินอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ ถ้าธรรมญาณยังอยู่ข้างในก็หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ กายและใจของเราก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อธรรมญาณออกไปเสียแล้วซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินมิได้อยู่ กายและใจของเราก็แตกสลายสาบสูญไป"
ถ้อยความเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เป็นตัวตนแท้ที่จริงของมมนุษย์นั้นคือ ธรรมญาณ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอันแท้จริงตามธรรมชาติเดิมแท้และมีความบริสุทธิ์สะอาดชัดเจนชนิดที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกเลย แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความดีชั่ว มืดสว่างแห่งโลกนี้ กิเลสทั้งปวงที่วิ่งเข้าสู่ประตูทั้ง 4 จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่งไม่มีที่สิ้นสุด จนลืมเลือนธรรมญาณอันแท้จริงของตนเองไปเสียสิ้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในธรรม ญาณและจักไม่แสวงหาธรรมญาณในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง
ผู้ที่ถูกเขลาครอบงำมองไม่เห็นธรรมญาณนั้นจัดเป็นคนสามัญปุถุชน
ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นธรรมญาณของตนเองจัดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง .
ผู้ที่มีความเมตตากรุณาย่อมเป็นพระอวโลกิเตศวร
ผู้ที่มีความเพลินเพลินในการโปรยทานย่อมเป็นพระมหาสถามะอันเป็นพระโพธิสัตว์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม
ผู้ที่สามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ก็คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า
ผู้ที่มีความสม่ำเสมอตรงแน่วคือพระอมิตาภะ"
อานุภาพแห่งธรรมญาณที่เปล่งประกายออกมาเช่นนี้ย่อมดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งพระพุทธพระโพธิสัตว์โดยแท้จริง แต่ถ้าตกอยู่ในอำนาจการปรุงแต่งทางด้านอบายคติย่อมกลับกลายเป็นภัยอันใหญ่หลวงของตนเอง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเปรียบเทียบว่า
"ผู้ที่ติดอยู่ในตัวตนและความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ
ใจที่สามารถต่ำช้าได้แก่ มหาสมุทร มีกิเลสเป็นระลอกคลื่นมีความชั่วเป็นเช่นมังกรร้าย ความเท็จคือผีห่า อารมณ์ภายนอกเป็นเช่นสัตว์น้ำต่างๆ
ความโลภและโกรธคือ นรกโลกันต์
อวิชชาและความมัวเมาทั้งปวงคือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป"
อำนาจการปรุงแต่งจึงมีกำลังอยู่สองประการคือ ร้ายกับดี เพราะฉะนั้นขณะที่มีกายอยู่จึงมิต้องแสวงหา สวรรค์ นรก นอกกายเลย แต่จงค้นหาภายในจิตของตนเอง
      ครั้งหนึ่งมีนายพลท่านหนึ่งสะพายดาบเข้าไปหาพระอาาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งชอบแสดงธรรมเกี่ยวกับนรกสวรรค์โดยกล่าวกับพระอาจารย์ท่านนั้นว่า
"วันนี้หลวงพ่อต้องแสดง นรก สวรรค์ ให้ชัดเจนมิเช่นนั้นจักต้องได้เห็นดีกันแน่แท้"
"เธอหรือคือนายพล รูปร่างอ้วนพีดั่งหมูตัวหนึ่งแล้วจักสำแดงฝีมือขับไล่ศัตรูได้อย่างไร"
นายพลได้ยินพระอาจารย์กล่าวดังนี้ บันดาลโทสะเพราะถูกสบประมาท จึงชักดาบออกจากฝัก พระอาจารย์ยกมือขึ้นแล้วกล่าวว่า
"อมิตาพุทธ ประตูนรกเปิดแล้วเชิญท่านเดินเข้าไปได้"
นายพลได้สติหากฆ่าฟันพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพย่อมมีนรกเป็นที่ไปจึงสอดดาบกลับคืนสู่ฝัก พระอาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า
"อมิตาพุทธ ประตูสวรรค์เปิดแล้ว เชิญท่านก้าวเข้าไปได้"
นิทานเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นความจริงว่า ตราบใดกายสังขารยังอยู่ นรกย่อมอยู่ในอกสวรรค์ย่อมอยู่ในใจ อาการที่จิตสำแดงออกมานั้นเป็นไปตามความเคยชินแห่งการอาศัยอยู่ในนรกและสวรรค์อย่างแท้จริง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"ถ้าประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง แดนสุขาวดีก็ปรากฏแก่ตัวเราทันทีเมื่อขจัดความเห็นแก่ตัวตนและปรุงแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ทิ้งไปเสียภูเขาพระสุเมรุก็พังทลายลงมา เมื่อใดจิตพ้นไปจากความชั่วน้ำในมหาสมุทรย่อมเหือดแห้งไปสิ้น เมื่อเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลสทั้งปวงคลื่นลมทั้งหลายก็สงบเงียบ เมื่อใดความชั่วมิกล้าเผชิญหน้า เมื่อนั้นปลาร้ายมังกรร้ายก็ตายสิ้น"
ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ภายในธรรมญาณของตนเองแต่เพียงสถานเดียว

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 28

ตอนที่ 28.... ดินแดนแห่งอมิตาภะ
      พระพุทธองค์ตรัสย้ำให้ทรงปฏิบัติแต่ปัจจุบันกาลมากกว่าอดีตแลอนาคตกาลเพราะทั้งสองการเวลานั้นหาได้เกิดประโยชน์โภคผลแต่ประการใดไม่
รู้อดีตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
อนาคตที่มาถึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจุบันกาลจึงเป็นตัวกำหนดอนาคตที่แท้จริงเพราะฉะนั้นการเอาใจใส่ต่อปัจจุบันจึงเป็นผู้ไม่ประมาท
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ตอบปัญหาของข้าหลวงอุ๋ยที่สงสัยว่าบรรพชิตและฆราวาสต่างเอ่ยพระนามของพระอมิตาภะโดยหวังว่าจะไปบังเกิดในดินแดนทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนบริสุทธิ์ได้หรือไม่ว่า
"เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระสูตรที่กรุงสาวัตถีเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า แดนบริสุทธิ์นั้นมิได้อยู่ไกลไปจากที่นี่เลย เพราะถ้าติดตามระยะทางเป็นไมล์ก็ได้ 108,000 ไมล์เท่านั้น ซึ่งความหมายที่แท้จริงของระยะทางนี้คือ อกุศล 10 และ มิจฉัตตะ 8 ภายใน ตัวเรานั่นเอง สำหรับพวกที่มีใจต่ำมันย่อมอยู่ไกลแสนประมาณ แต่สำหรับพวกมีใจสูงอยู่ใกล้นิดเดียว"
อกุศล 10 ประการนั้นเกิดจาก จิต ถึงสามประการคือ โลภ โกรธ หลง เกิดจากวาจา มีถึงสี่ประการคือ โกหก หยาบ นินทา และเพ้อเจ้อ และกายกระทำชั่ว สามอย่างคือ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยและผิดในกามตัณหา
      ส่วนมิจฉัตตะหมายถึงหนทางที่ตรงกันข้ามกับ มรรคมีองค์แปดคือมิจฉาปัญญา มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวาจา เป็นต้น
เพราะฉะนั้นในขณะที่คนมีปัญญาชำระใจของตนเองให้บริสุทธิ์เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า
"เมื่อใจบริสุทธิ์ดินแดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน"
      แต่คนที่ไร้ปัญญาต่างพากันออกนามพระอมิตาภะและอ้อนวอนขอไปเกิดในแดนบริสุทธิ์ย่อมเป็นไปมิได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายอย่างแยบยลว่า
"แม้เป็นชาวตะวันออก ถ้าใจบริสุทธิ์ก็ย่อมเป็นคนไม่บาปแต่ต่อให้เนชาวตะวันตกเสียเองแต่ใจโสมมก็ไม่อาจช่วยให้เป็นคนหมดบาปได้ ถ้าในกรณีที่เป็นคนตะวันออกทำบาปแล้วอกนามพระอมิตาภะแล้วอ้อนวอนเพื่อให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก แต่ถ้าคนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเอง เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนอีกเล่า"
"คนสามัญและคนโง่ไม่เข้าใจในธรรมญาณ และไม่รู้จักว่าแดนบริสุทธิ์มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัวเอง ดังนั้นจึงปรารถนาไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง ทางทิศตะวันตกบ้าง แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็เหมือนกันทั้งนั้น ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสเอาไว้ว่า "เขาจะไปเกิดที่ไหนไม่สำคัญเขาคงมีความสุขและบันเทิงรื่นเริงอยู่เสมอ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"เมื่อใจบริสุทธิ์จากบาป ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้แต่มันลำบากอยู่ที่คนใจโสมมต้องการไปเกิดที่นั่น"
"สิ่งที่ควรทำเป็นข้อแรกก็คือ จัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นเมื่อนั้น ก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100,000 ไมล์ขั้นต่อไปเราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้เสร็จสิ้นก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8,000 ไมล์นั้นเราได้เดินผ่านทะลุไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปไหน ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งชัดในธรรมญาณอยู่เสมอ และดำเนินการตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบอมิตาภะอยู่ที่นั่น"
พระวจนะตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเข้าถึงดินแดนอันบริสุทธิ์ถูกต้องนั้นอยู่ที่การบำเพ็ญให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณของตนเองเพียงสถานเดียวจึงเป็นการที่ตนเองอย่างแท้จริงตรงตามพระพุทธวจนะที่กล่าวว่า ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน
แต่ความเข้าใจของสาธุชนในสมัยปัจจุบันเชื่อว่า ผู้อื่นสามารถพาเราไปยังแดนบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงคลั่งไคล้ใหลหลงต่อผู้ที่มีวัตรปฏิบัติแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากกว่าที่หันมาบำเพ็ญตเองโดยหวังผู้วิเศษเหล่านั้นจักนำพาเข้าไปสู่แดนสวรรค์โดยที่ตนเองมิต้องบำเพ็ญปฏิบัติแต่อย่างใด
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้นท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปที่นั่นถ้าท่านเข้าใจหลักธรรมอันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด ก็จะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั่นด้วยลำพังการออกนามพระอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอเพราะหนทาง 108,000 ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น"
      หลักธรรมอันกล่าวถึงการไม่เกิดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งร่างกายสังขารมีวันเกิดจากพ่อแม่ แต่ธรรมญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มีวันเกิดเพระฉะนั้นจึงไม่มีวันดับ ความเข้าใจเช่นนี้ย่อมทำให้เข้าใจถึงการเวียนว่ายตายเกิดและหักวงจรของการเวียนว่ายเช่นนี้เสียได้
การหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายจึงมได้อยู่ที่การทำบุญแต่อยู่ที่การปฏิบัติตนเองให้พบสภาวะแห่งธรรมญาณอันเป็นธรรมชาติแท้ที่ไม่เกิดดับและที่ตรงนั้นในตัวเราจึงเป็นดินแดนแห่งอมิตาภะซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอมตะนิรันดรนั่นเอง

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 27

ตอนที่ 27.... อหังการ
      บุญ เป็นเครื่องที่ทำให้เกิดกิเลสในจิตฟูขึ้นจึงกลายเป็นความถือดีอวดดี ทำให้จิตหลงทางได้ง่ายที่สุด
      กุศล เป็นเครื่องตัดกิเลสมิให้ฟูขึ้น เพราะฉะนั้นจึงแสวงหาได้จากธรรมญาณ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน
ผู้สร้างบุญมิอาจตัดความยะโสโอหังได้เพราะเป็นสิ่งภายนอกที่ยั่วย้อมให้จิตหลงใหลลืมตัวและเป็นเรื่องที่สร้างได้ง่ายดายนัก
ส่วนกุศลเป็นเรื่องที่ต้องค้นพบธรรมญาณแห่งตนจึงเป็นเรื่องยาก
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"การเห็นแจ้งในธรรมญาณเรียกว่า "กง"ส่วนการที่สามารถกระทำให้คงที่สม่ำเสมอเรียกว่า "เต๋อ" และเมื่อใดจิตที่เคลื่อนไหวแคล่วคล่องตามภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งทำหน้าที่อย่างประหลาดลี้ลับของใจเราเอง เมื่อนั้นได้ชื่อว่าเข้าถึงซึ่ง กงเต๋อ" คำว่า "กงเต๋อ" มีความหมายว่า คุณธรรม หรือ กุศลกรรม เพราะการค้นพบธรรมญาณของตนเองเป็นการงานที่ต้องจัดการปัดกวาดกิเลสนานาประการออกไปให้หมดและสภาวะแห่งธรรรมญาณปรากฎจึงเรียกว่าคุณธรรม
การอธิบาย "กงเต๋อ" จึงมิใช่เรื่องยาก แต่การกระทำให้ปรากฏขึ้นมาจนเป็นธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยากนัก
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"การระวังจิตภายในให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากอหังการจึงเป็น "กง" แต่ที่เป็นภายนอกเกี่ยวกับการวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทางจึงเป็น "เต๋อ"
การที่ว่าทุกสิ่งที่แสดงออกจากธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง" และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิตซึ่งเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงจึงเรียกว่า "เต๋อ"
การที่ไม่ปล่อยให้จิตวิ่งเตลิดไปจาก ธรรมญาณ จึงเรียกว่า "กง"
แต่การที่ใช้จิตให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่เผลอทำให้จิตมืดมัวเสียก่อนจึงเรียกว่า "เต๋อ"
      สภาวะของจิตที่มีกุศลธรรรมจึงล้วนกระทำออกไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงเพราะยอมรับว่าทุกคนล้วนแต่มีสภาวะแห่งธรรมญาณเหมมือนกันหมด
และคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนจึงเปรียบได้เช่นน้ำพร่องแก้วสามารถเติมน้ำได้ตลอดเวลา แต่คนที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นเช่นน้ำล้นแก้ว ไม่อาจเพิ่มเติมน้ำได้อีก
ผู้ที่ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงไม่อาจสร้างบุญกุศลใดๆ ได้เลยเพราะมีแต่ยโสโอหังดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำกว่าตนเสมอ
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"ถ้าแสวงหากุศลภายในธรรมกายและทำตามที่ได้กล่าวนี้จริงๆ กุศลที่ได้รับย่อมเป็นกุศลจริงผู้ปฏบัติเพื่อกุศลจะไม่หมิ่นผู้อื่นและในทุกที่ทุกโอกาสเขาปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปกตินิสัยย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปได้แสดงให้เห็นว่าเขาขาดซึ่ง "กง" ดังนั้น เขาจึงไม่อาจแจ้งต่อธรรมญาณของตนเองส่อสำแดงให้เห็นว่าเขายังขาด "เต๋อ"
คำกล่าวของท่านฮุ่ยเหนิงย่อมชี้ให้เห็นชัดเจนถึงภาวะจิตของคนที่มีกุศลธรรมคือ "กงเต๋อ" ย่อมเป็นคนที่มีมารยาทยกย่องผู้อื่น คนเหล่านี้ย่อมได้รับการยกย่องนับถือตอบกลับคืนไป แต่คนที่เย่อหยิ่งจองหองล้วนได้รับความดูหมิ่นหรือตอบแทนด้วยความรังเกียจของชนทั้งปวง
คนสมัยนี้ปราศจากความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะเทคโนโลยีที่เจริญกลายเป็นกิเลสทำให้เขาลืมตัวว่าเก่งกาจกว่าใครๆ ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ คนเหล่านี้จึงเจริญด้วย อหังการ
เพราะฉะนั้นคนในยุคที่เจริญด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นผู้ที่อวดดีโดยปราศจากความดีและไร้มมารยาทและพร้อมที่จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและกลายเป็นผู้ที่ประจบสอพลอต่อผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าเขา
โลกจึงตกต่ำและตกอยู่ในอันตรายเพราะ "คุณธรรม" มิได้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอีกต่อไป แต่อำนาจแห่ง "อหังการ" ครอบงำโลกเอาไว้
ผู้ที่บ้าคลั่งแต่เทคโนโลยีจึงกลายเป็นคนหลงอย่างแท้จริงเพราะเขาเกิดความเข้าใจผิดว่าการครอบครองเทคโนโลยีจึงกลายเป็นผู้ทที่มีอำนาจอันแท้จริงสามารถบงการชีวิตของผู้อื่นได้ ความจริงเขาเหล่านั้นแม้ชีวิตของตนเองยังไม่อาจบงการได้เลย
และวิทยาศาสตร์เจริญก้าวล้ำหน้าไปเท่าไรแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างต้นหญ้าจริงๆ หรือแม้แต่มดตัวน้อยสักตัวหนึ่งได้ มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของวิทยาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะแห่งความมืดมนอย่างแท้จริงและน่าสงสารนัก
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเกี่ยวกับ "กงเต๋อ" ว่า
"เมื่อใดความเป็นไปแห่งจิตทำหน้าที่โดยไม่มีติดขัดเมื่อนั้นเรียกว่ามี "กง" เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่โดยตรงแน่ว เมื่อนั้นเรียกว่ามี "เต๋อ"
เพราะฉะนั้น กุศล จึงเป็นเรื่องของการแสวงหาภายในจิตเดิมแท้หรือธรรมญาณ และหาไม่ได้ด้วยการโปรยทาน ถวายภัตตาหารเจจึงต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความปิติอิ่มใจกับกุศลกรรมอันแท้จริง"
การสร้างบุญกับ แสวงหากุศลจึงไม่เหมือนกันจริงๆ