วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 29

ตอนที่ 29.... มนุษย์นคร
      ความว่างก่อกำเนิดสรรพสิ่ง ถ้าปราศจากความว่างเสียแล้วสรรพสิ่งมิอาจถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย เพราะฉะนั้นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดาวน้อยใหญ่ในจักรวาลนี้ล้วนมีความว่างเป็นปัจจัยสำคัญ จึงกำเนิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้
ธรรมญาณของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะมีความว่างจึงสามารถปรุงแต่งสรรพสิ่งได้มากมายจนมิอาจประมาณได้เลย
ใครสามารถเข้าถึงความสามารถเดิมแท้แห่งธรรมญาณได้ก็จักเข้าใจจักรวาลนี้เช่นเดียวกันเพราะอำนาจการปรุงแต่งมิได้แตกต่างไปจากความว่างอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเลย
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเปรียบเทียบเอาไว้อย่างน่าศึกษาว่า
"ตัวของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น เป็นเฉกเช่นประตูเมือง ประตูนอกมี 4 ประตู ซึ่งเป็นอำนาจการปรุงแต่งสำหรับนึกคิด
ใจนั้นเป็นแผ่นดิน ส่วนธรรมญาณเป็นเช่นพระเจ้าแผ่นดินอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ ถ้าธรรมญาณยังอยู่ข้างในก็หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินยังอยู่ กายและใจของเราก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อธรรมญาณออกไปเสียแล้วซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินมิได้อยู่ กายและใจของเราก็แตกสลายสาบสูญไป"
ถ้อยความเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เป็นตัวตนแท้ที่จริงของมมนุษย์นั้นคือ ธรรมญาณ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอันแท้จริงตามธรรมชาติเดิมแท้และมีความบริสุทธิ์สะอาดชัดเจนชนิดที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกเลย แต่เพราะตกอยู่ในอำนาจของความดีชั่ว มืดสว่างแห่งโลกนี้ กิเลสทั้งปวงที่วิ่งเข้าสู่ประตูทั้ง 4 จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่งไม่มีที่สิ้นสุด จนลืมเลือนธรรมญาณอันแท้จริงของตนเองไปเสียสิ้น
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า
"เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในธรรม ญาณและจักไม่แสวงหาธรรมญาณในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง
ผู้ที่ถูกเขลาครอบงำมองไม่เห็นธรรมญาณนั้นจัดเป็นคนสามัญปุถุชน
ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นธรรมญาณของตนเองจัดเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง .
ผู้ที่มีความเมตตากรุณาย่อมเป็นพระอวโลกิเตศวร
ผู้ที่มีความเพลินเพลินในการโปรยทานย่อมเป็นพระมหาสถามะอันเป็นพระโพธิสัตว์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม
ผู้ที่สามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ก็คือพระศากยมุนีพุทธเจ้า
ผู้ที่มีความสม่ำเสมอตรงแน่วคือพระอมิตาภะ"
อานุภาพแห่งธรรมญาณที่เปล่งประกายออกมาเช่นนี้ย่อมดำเนินอยู่บนเส้นทางแห่งพระพุทธพระโพธิสัตว์โดยแท้จริง แต่ถ้าตกอยู่ในอำนาจการปรุงแต่งทางด้านอบายคติย่อมกลับกลายเป็นภัยอันใหญ่หลวงของตนเอง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงเปรียบเทียบว่า
"ผู้ที่ติดอยู่ในตัวตนและความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ
ใจที่สามารถต่ำช้าได้แก่ มหาสมุทร มีกิเลสเป็นระลอกคลื่นมีความชั่วเป็นเช่นมังกรร้าย ความเท็จคือผีห่า อารมณ์ภายนอกเป็นเช่นสัตว์น้ำต่างๆ
ความโลภและโกรธคือ นรกโลกันต์
อวิชชาและความมัวเมาทั้งปวงคือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป"
อำนาจการปรุงแต่งจึงมีกำลังอยู่สองประการคือ ร้ายกับดี เพราะฉะนั้นขณะที่มีกายอยู่จึงมิต้องแสวงหา สวรรค์ นรก นอกกายเลย แต่จงค้นหาภายในจิตของตนเอง
      ครั้งหนึ่งมีนายพลท่านหนึ่งสะพายดาบเข้าไปหาพระอาาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งชอบแสดงธรรมเกี่ยวกับนรกสวรรค์โดยกล่าวกับพระอาจารย์ท่านนั้นว่า
"วันนี้หลวงพ่อต้องแสดง นรก สวรรค์ ให้ชัดเจนมิเช่นนั้นจักต้องได้เห็นดีกันแน่แท้"
"เธอหรือคือนายพล รูปร่างอ้วนพีดั่งหมูตัวหนึ่งแล้วจักสำแดงฝีมือขับไล่ศัตรูได้อย่างไร"
นายพลได้ยินพระอาจารย์กล่าวดังนี้ บันดาลโทสะเพราะถูกสบประมาท จึงชักดาบออกจากฝัก พระอาจารย์ยกมือขึ้นแล้วกล่าวว่า
"อมิตาพุทธ ประตูนรกเปิดแล้วเชิญท่านเดินเข้าไปได้"
นายพลได้สติหากฆ่าฟันพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพย่อมมีนรกเป็นที่ไปจึงสอดดาบกลับคืนสู่ฝัก พระอาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า
"อมิตาพุทธ ประตูสวรรค์เปิดแล้ว เชิญท่านก้าวเข้าไปได้"
นิทานเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นความจริงว่า ตราบใดกายสังขารยังอยู่ นรกย่อมอยู่ในอกสวรรค์ย่อมอยู่ในใจ อาการที่จิตสำแดงออกมานั้นเป็นไปตามความเคยชินแห่งการอาศัยอยู่ในนรกและสวรรค์อย่างแท้จริง
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"ถ้าประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง แดนสุขาวดีก็ปรากฏแก่ตัวเราทันทีเมื่อขจัดความเห็นแก่ตัวตนและปรุงแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ทิ้งไปเสียภูเขาพระสุเมรุก็พังทลายลงมา เมื่อใดจิตพ้นไปจากความชั่วน้ำในมหาสมุทรย่อมเหือดแห้งไปสิ้น เมื่อเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลสทั้งปวงคลื่นลมทั้งหลายก็สงบเงียบ เมื่อใดความชั่วมิกล้าเผชิญหน้า เมื่อนั้นปลาร้ายมังกรร้ายก็ตายสิ้น"
ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ภายในธรรมญาณของตนเองแต่เพียงสถานเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น