วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 23

ตอนที่ 23.... มองหาความผิดตนเอง
                ผู้มีปัญญาอันแท้จริงย่อมค้นหาปัญญาของตนเองมากกว่าที่จะไปค้นหาจากภายนอก เพราะปัญญาภายนอกมิอาจแก้ไขปัญหาทุกข์ของตนได้เลย
โศลกหรือคาถาของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า
"โพธิ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วภายใน "ธรรมญาณ" ของเรา คนเขลาเทท่านั้นที่พยายามมองหาโพธิจากที่อื่นเช่นเดียวกับจิตอันบริสุทธิ์ หาพบได้ภายในจิตที่ไม่บริสุทธิ์ของเรานั่นเอง"
โพธิ หมายถึงปัญญาแห่งการรู้แจ้งของตนเองซึ่งมีมาแล้วตามธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาความทุกข์ของคนในโลกนี้ล้วนต้องพึ่งพาปัญญาของตนเองทั้งสิ้น แต่คนที่ไม่ศรัทธาตนเองตนเองจึงมองหาแต่ที่พึ่งจากที่อื่นเสมอไปและเชื่อว่า ผู้อื่นจักช่วยให้ตนเองบริสุทธิ์พ้นไปจากบาปกรรมตัวอย่างที่เห็นกันทั่วไปคือผู้ที่ไปอาศัยน้ำมนต์ น้ำหมาก ดอกบัว และเครื่องรางของขลังทั้งปวง ล้วนเป็นผู้ที่ขาดศรัทธาในตัวเองสิ้นเชิงจึงฝากอนาคตแห่งชีวิตไว้กับสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น "เดรัจฉานวิชา" วิชาเหล่านี้เป็น "มิจฉาปัญญา" เพราะพาผู้คนให้หลงใหลงมงายพ้นไปจากวิถีแห่งการใช้ปัญญาของตนเองให้รู้แจ้ง จิตญาณจึงต้องไปเวียนว่ายในภูมิวิถีหกไม่มีที่สิ้นสุด
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวโศลกต่อไปว่า
"ทันทีที่เราดำรงจิตถูกต้อง เราย่อมเป็นอิสระจากสิ่งบดบังทั้งสามประการคือ กิเลส เวรกรรม และการตกนรก ถ้าเดินอยู่ในหนทางแห่งการตรัสรู้
เราไม่จำเป็นต้องกลุ้มใจต่ออุปสรรคที่ทำให้เราสะดุดล้ม ถ้าเราคอยสอดสายตา ระวังความผิดของตนเองอยู่เสมอ เราก็จะไม่เดินไถลออกไปจากหนทางที่ถูกต้อง" การดำรงจิตให้ถูกต้องหมายถึงตรงต่อสัจธรรมแห่ง "ธรรมญาณ" ซึ่งสภาวะเช่นนั้นมิได้ฝักไฝ่ทั้งความดีหรือความชั่ว ดังนั้นจิตที่อยู่ในหนทางแห่งทางสายกลางย่อมไม่มีบาปกรรมปรากฎขึ้นในจิต เพราะไม่มีเจตนาใดๆ เกิดขึ้นเลย หนทางชีวิตที่ถูกทาง หมายถึงการเดินอยู่ในปัญญาของตนเองเพื่อใช้ศักยภาพของปัญญาให้รู้แจ้งในความทุกข์ แม้มีอุปสรรคขัดขวางอย่างไร การใช้ปัญญาของตนเองย่อมผ่านพ้นสสิ่งขัดขวางนั้นไปได้อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ มนุษย์เรามีมักไม่เห็นความผิดชั่วของตนเอง แม้มีผู้เมตตาชี้ให้เห็นก็ไม่ยอมรับ แต่ความผิดบาปของผู้อื่นล้วนเห็นกระจ่างชัดและพยายามที่จะช่วยเขาเหล่านั้นโดยอ้างว่าเป็น "ความเมตตา" การเห็นความผิดบาปของคนบาปจึงกลายเป็นอุปสรรคของตนเองเพราะในที่สุดก็ทำให้จิตเศร้าหมองและพ้นไปจากวิถีแห่งการรู้ตนเอง
ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ซูตงพอเป็นกวีเอก และมีฝ่าอิ้นต้าซือเป็นสหาย ทั้งสองมักสนทนาธรรมกันอยู่เนืองๆ และทุกครั้งซูตงพอพ่ายแพ้แก่ ฝ่าอิ้นต้าซือ เสมอจึงรู้สึกไม่พอใจมาก
วันหนึ่ง ซูตงพอ จึงถาม พระอาจารย์ฝ่าอิ้นว่า"ถามจริงๆ เถอะ ท่านเห็นผมเป็นอะไร""อมิตาพุทธ อาตมาเห็น ท่านซูตงพอเป็นพุทธะ"
เมื่อตอบแล้วพระอาจารย์ฝ่าอิ้น จึงถามซูตงพอบ้างว่า"แล้วท่านเห็น อาตมาเป็นอะไร"      ซูตงพอหัวเราะก่อนที่จะตอบกลับไปด้วยความพออกพอใจยิ่งว่า"ท่านแน่ะเรอ ขี้หมากองค์เดียว"
พระอาจารย์ฝ่าอิ้นได้แต่ยิ้มแล้วไม่ตอบว่ากระไรเลย ซูตงพอดีใจนักที่เอาชนะหลวงพ่อฝ่าอิ้นได้จึงกลับไปเล่าเรื่องให้น้องสาวฟังโดยละเอียด
"ตั้งแต่เถียงกันมา วันนี้พี่เพิ่งได้ชัยชนะ" ซูตงพอคุยด้วยความภูมิใจ
"วันนี้ก็แพ้อีกแล้ว" น้องสาวตอบ"แพ้ยังไง ก็พี่เป็นพุทธะ พอพี่บอกว่าท่านเป็น ขี้หมากกองเดียวก็เงียบกริบเลย""ภายในจิตของหลวงพ่อฝ่าอิ้น ท่านเป็นพุทธะ เพราะฉะนั้นจึงมองใครๆ เป็นพระพุทธะ แต่ภายในจิตของพี่มีแต่กองขี้หมาจึงเห็นผู้อื่นเป็นกองขี้หมา อย่างนี้มิใช่หรือ"
คำชี้แจงของน้องสาวย่อมเป็นเครื่องชี้ว่า ภายในจิตของตนเองเป็นอย่างไร ย่อมเห็นผู้อื่นเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นการค้นหาผิดบาปของคนอื่นได้มากเท่าไหร่ก็ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนถึงผิดบาปของตนเองที่สถิตอยู่ภายในจิตมากเท่านั้นการค้นหาความผิดบาปของผู้อื่นนับเป็นการเสียเวลาอย่างแท้จริงเพราะไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง ผิดบาป ของคนอื่นได้เลย เพราะเราไม่อาจรู้ซึ้งถึงเหตุแห่งบาปของเขาเหล่านั้นแต่การค้นหา ผิดบาป ของตนเองย่อมก่อให้เกิดความสำเร็จเพราะสามารถสำนึกแก้ไขตัวเองได้ ประการสำคัญ เราย่อมรู้เหตุแห่ง "ผิดบาป" ของตนเองได้ชัดแจ้งที่สุดเปรียบเสมือนหนึ่งเห็นขยะภายในบ้านของเรา ย่อมปัดกวาดทำความสะอาดได้ไม่ยากนัก เว้นเสียแต่ว่าไม่ยอมจัดการเท่านั้นเอง แต่ไม่มีใครสามารถเข้ามาปัดกวาดทำความสะอาดบ้านของเราได้ดีกว่าตัวเรา
การเห็น "ความผิด" ของตนเองงจึงเป็น "ปัญญา" อันแท้จริงและยิ่งใหญ่ที่สุดเฉกเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นทุกข์ของตนเองและกำจัดทุกข์ได้เด็ดขาดนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น