วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 39

ตอนที่ 39.... สมาธิที่ถูกวิธี
      วิธีทำสมาธิย่อมมีทั้งวิธีที่ถูกและผิด แต่เพราะมิได้นำมาพิจารณาแยกแยะให้ชัดเจน จึงไม่รู้ว่าวิธีใดถูกและผิด ขอแต่เพียงเป็นสมาธิก็เหมาเอาว่าเป็นของพระพุทธองค์และยินดีรับมาปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะหลงปฏิบัติผิดไปนานแสนนานก็ไม่รู้ตัวกลายเป็นการยึดมั่นและถือมั่นเป็น
อัตตาตัวตนเหมือนกับสำนวนที่ว่า "สมาธิข้าใครอย่าแตะ"
      ถ้ามีใครมาบอกว่าการนั่งสมาธิของตนเองผิด ความไม่พอใจก็เกิดขึ้นและพาลหาว่าคนเหล่านั้นกระทำการเหมือนคนนอกศาสนาไปโน่น
สมัยที่ฝึกหัดนั่งสมาธิอัตตาก็แค่ตัวคนเดียว เล็กนิดเดียวแต่เผอิญนั่งไปนานๆ เข้าเกิดนิมิตเห็นเป็นพระพุทธรูป
ขยายให้ใหญ่เต็มท้องฟ้าหรือเล็กนิเดียวเท่าเมล็ดงาก็ทำได้
เมื่อรูปนิมิตขยายใหญ่เท่าไร อัตตาของคนเห็นก็ใหญ่ขึ้นเท่านั้น ความหลงก็เกิดขึ้นจนประมาณขอบเขตของความหลงนั้นมิได้ ยิ่งมีคนมาบำเพ็ญปฏิบัติด้วยมากเท่าไร อัตตาของตนเองก็ขยายออกไปมากเท่านั้น
คนหลงเป็นล้านกับคนหลงหนึ่งคนต่างก็มีค่าเป็นความหลงเช่นเดียวกัน
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวเอาไว้ว่า
"การบำเพ็ญ "สมาธิที่ถูกวิธี" นั้นได้แก่การให้เป็นระเบียบตายตัว เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาสไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน วิมลกีรตินิเทศสูตร มีข้อความว่า
"ความเป็นผู้ตรงแน่วนั่นแหละคือ เมืองอริยะ แดนบริสุทธิ์"
"เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ใจคดเคี้ยวไปมา และอย่าประพฤติความตรงแน่วเพียงลมฝีปาก"
"เราต้องบำเพ็ญให้ตรงแน่วจริงๆ และไม่ผูกพันตัวเองไว้กับสิ่งใดๆ คนมี่งมงายอยู่ภายใต้อวิชชา ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงไปตามธรรมลักษณะฉะนั้นเขาจึงรั้นที่จะแปลเอาตามชอบใจของตัวเอง"
      พระวจนะของท่านฮุ่ยเหนิงได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สมาธิที่ถูกวิธีนั้นมิใช่เป็นการนั่งแต่เป็นการคุมจิตให้มีพฤติกรรมออกมาอย่างตรงต่อสัจธรรมในทุกอริยาบถ
คนที่นั่งนิ่งๆ ไม่ไหวติงมิอาจกล่าวได้ว่าจิตใจตรงแน่วต่อสัจธรรมเฉกเช่นเดียวกับคนที่ปากบอกว่าตรงต่อสัจธรรมก็ไม่อาจประเมินว่าเป็นคนตรงแน่วจริงแท้
ความตรงแน่วจึงไม่อาจตัดสินกันได้ด้วยวาจาหรือการกระทำด้วยอาการของร่างกายเท่านั้น แต่ความตรงแน่วย่อมต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงความเคลื่อนไหวของจิตที่ผลิตออกมาจากธรรมญาณ
สติ จึงเป็นตัวคุมที่ดีที่สุด
      แต่การนั่งหลับตาจนมองเห็นพุทธรูปหรือดอกบัวตลอดจนเห็นวิมานชั้นสวรรค์ย่อมเป็นอาการของคนหลงซึ่งไม่ต่างไปจากคนในโลกนี้ที่เดินเที่ยวตามศูนย์การค้าและเพลิดเพลินกับสินค้าที่ตัวเองเกิดจิตปรารถนามองทุกครังที่เป็นศูนย์การค้านั้น
ปุถุชนจึงชอบที่ประกาศความตรงแน่วของตนเองทุกเวลาเพื่อยืนยันให้ผู้มีปัญญารู้ว่า ตนเองนั้นมิได้มีความตรงแน่วแต่ประการใดเลย
ส่วนผู้ที่บำเพ็ญปฏิบัติที่แท้จริงและมีปัญญา จักเกิดความเข้าใจได้ว่า ความตรงแน่วตามหลักสัจธรรมนั้นไม่สามารถประกาศออกมาได้ด้วยวาจา แต่เกิดขึ้นจากจิตที่รู้จักธรรมญาณของตนเองเท่านั้น บุคคลเหล่านี้จึงเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนด้วยจิตใจและสำนึกถึงความผิดของตนเองบ่อยครั้งจนกลายเป็นหลักปฏิบัติของตนเองไป แต่คนที่ปฏิบัติตามความตรงแน่วด้วยรูปลักษณ์หรือด้วยวาจาย่อมพิจารณาทุกสิ่งอย่างตามสภาพแห่งความหลอกลวงที่ตนเองหลงเข้าไปติดยึดว่าถูกต้อง คนที่หลงตกอยู่ในอวิชชาคือความไม่รู้อันแท้จริงนั้นย่อมแปลความหมายแห่งการปฏิบัติธรรมของตนไปตามที่ได้พบเห็นและยึดถือว่าถูกถ้วน
บางท่านแปลการทำสมาธิต้องนั่งนิ่ง ภาวนาถ้อยคำเพื่อให้จิตนั้นสงบนิ่ง
      ครั้งจิตสงบนิ่งแต่ได้สร้างภาพมายามากมาย ครั้นพบภาพที่สวยงามพึงใจ จิตจึงติดยึดไม่ปล่อยวาง จึงตีความว่าวิธีการบำเพ็ญของตนเองนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว มีความสงบ มีความสบาย อย่างชนิดที่ไม่เคยได้พบมาก่อนเลยเพราะฉะนั้นจึงยึดมั่นถือมั่นและเห็นเป็น "ธรรมลักษณะ" ที่ถูกต้องตรงตามที่พระพุทธองค์สั่งสอน ความหลงเช่นนี้ยากที่จะมีใครไปถอนให้ได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า"ในการแปลคำว่า "สมาธิที่ถูกวิธี" จึงพากันแปลว่านั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป โดยไม่ยอมให้ความคิดอันใด อันหนึ่งเกิดขึ้นในจิตการแปลความหมายเช่นนี้เป็นการจัดตัวเราเองลงไปอยู่ในชั้นเดียวกับวัตถุที่ไร้ชีวิตวิญญาณทั้งหลายและกลายเป็นสิ่งสะดุดเกะกะกีดขวางหนทางตรง ซึ่งเราสมควรทำให้เปิดโล่งอยู่เสมอ ถ้าทำใจของเราให้พ้นไปจากการข้องแวะในสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งได้แล้ว ทางนั้นก็จะเตียนโล่งถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็ได้ชื่อว่า ขังตัวเราเอง
ถ้าหากแปลคำว่านั่งอย่างเงียบติดต่อกันไปเป็นคำแปลที่ถูกต้องแล้วทำไมในคราวหนึ่งท่านสารีบุตรจึงถูกท่านวิมลกีรติขนาบเอาเนื่องจากนั่งเงียบๆ ในป่านั่นเอง"
      การนั่งเงียบๆ จึงไม่ผิดอะไรกับก้อนหิน ท่อนไม้ที่ตายแล้วเพราะวัตถุเหล่านี้ก็นั่งเงียบๆ เหมือนกัน
และถ้าจิตที่มีสติคอยควบคุมให้อยู่ในอาการของการตื่นตัวและรู้เท่าทันกิเลสทั้งปวงที่ผ่านเข้ามาทุกวินาที และกำหราบกิเลสเหล่านั้นลงไปได้ สมาธิเช่นนี้ต่างหากจึงเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์โดยแท้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น