วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 24

ตอนที่ 24.... ทางที่ถูกต้อง
      มนุษย์ในโลกนี้สับสนต่อหนทางแห่งการแก้ไขทุกข์ของตนเองเพราะเอาหนทางของกายมาแก้ไขทุกข์ของจิต ความทุกข์จึงไม่อาจดับได้ หนทางของการดับทุกข์ของ "จิต" มีอยู่แปดหมื่นสี่พันวิธี แต่หนทางที่ถูกต้องเป็นอย่างไรล้วนเป็นปัญหาสำหรับผู้แสวงหาความหลุดพ้น       พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้กล่าวถึงปัญหานี้ไว้ในโศลก "นิรรูป" ว่า"เพราะเหตุที่ชีวิตทุกๆ แบบย่อมมีวิถีทางแห่งความรอดพ้นเฉพาะของมันเองทุกแบบ ฉะนั้น ชีวิตทั้งหลายจะไม่ก้าวก่ายหรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันแต่ถ้าเราผละไปจากทางชนิดที่เป็นของเราไปแสวงหาทางอื่นเพื่อรอดพ้น เราจะไม่พบความรอดพ้นได้เลย แม้ว่าเราจะหาเรื่อยไป จนกระทั่งความตายมาถึงในที่สุดเราจะพบแต่ความรู้สึกเสียใจภายหลังว่าเราทำพลาดไปแล้ว"ความทุกข์แต่ละคนก่อรูปและสั่งสมเอาไว้ด้วย "กรรมเฉพาะตน" จึงทำให้ตนเองแตกต่างไปจากผู้อื่นซึ่งพิจารณาได้จากพระพุทธวจนะว่า
 "สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิดมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและปราณีตได้"เพราะเหตุนี้ ทุกชีวิตจึงกำหนดเส้นทางของตนเอาไว้แล้ว ในท่ามกลางของการเวียนว่ายในวัฏจักร์อันประมาณมิได้ แต่ละคนจึงมีความแตกต่างกันด้วยตนเอง และปณิธานของแต่ละคนที่ตั้งใจเอาไว้ก็แตกต่างกันเพราะฉะนั้น การที่เข้าไปก้าวก่ายวิถีชีวิตของแต่ละคนเพื่อให้ใช้วิธีกาารอย่างเดียวกันโดยตลอดจึงเป็นการฝืนต่อสัจธรรม
แต่ละชีวิตจึงมีหนทางแห่งการบำเพ็ญแตกต่างกัน แต่ต้องเป็นหนทางเฉพาะของตน ตัวอย่างต่อไปนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น
      ครั้งหนึ่งมีผู้บำเพ็ญดีเดินทางผ่านกระท่อมแห่งหนึ่ง พลันก็พบกับแสงสว่างแห่งธรรมเจิดจ้าออกมาจากกระท่อมนั้น จึงคิดว่าภายในกระท่อมย่อมมีผู้ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จแล้วจึงเข้าไปเพื่อทักทายแลกเปลี่ยนธรรมะกัน ผู้เปิดกระท่อมออกมาพบปะกลายเป็นหญิงชราคนหนึ่ง "โอ ยายเป็นผู้บำเพ็ญดีมาก มีวิธีการอย่างไรหรือ" ท่านผู้บำเพ็ญชายถามไถ่ "ยายไม่ได้ปฏิบัติอะไรหรอก นอกจากท่องมนต์อยู่บทเดียวเท่านั้น" "บอกหน่อยได้ไหมครับ""ยายท่อง "อมิตาพด" เพียง 20 ปีเท่านั้นแหละ"
"โอ คุณยายท่องผิดเสียแล้วละ ที่ถูกต้องคือ อมิตาพุทธ" ท่านผู้บำเพ็ญบอก  หญิงชรารู้สึกผิดหวังมากและเป็นกังวลที่ตนเองได้ท่องมนต์ผิดมา 20 ปี พอแก้การท่องใหม่ใจก็อดคิดไม่ได้ว่าตนเองได้ทำผิดมานานแล้วผ่านไปอีกไม่กี่เดือนท่านผู้บำเพ็ญก็ผ่านมาที่กระท่อมอีกครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ต้องประหลาดใจเพราะกระท่อมนั้นปราศจากแสงสว่างแห่งธรรมโดยสิ้นเชิง จึงแวะเข้าไปเยี่ยมเยือน
ครั้งพบหน้าหญิงชราซึ่งมีความเศร้าหมองมาก ท่านผู้บำเพ็ญก็รู้ทันทีว่าตนเองได้กระทำผิดอย่างมหันต์ จึงได้กล่าวขอโทษต่อหญิงชราแล้วบอกว่า"คราวที่แล้ว กระผมจำผิดเอง แท้ที่จริงคุณยายท่องมา 20 ปีน่ะถูกต้องแล้ว" นับจากนั้นมาแสงสว่างแห่งธรรมก็ปรากฏขึ้นที่กระท่อมอีกครั้งหนึ่ง เพราะคุณยายมีจิตเป็นหนึ่ง จึงเปล่งประกายอานุภาพแห่งธรรมให้ปรากฏได้
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ร่ายโศลกต่อไปว่า "ถ้าท่านปรารถนาค้นหาทางที่ถูกต้อง การทำให้ถูกวิธีจริงๆ เท่านั้น จึงจะนำท่านตรงดิ่งไปถึงได้
แล้วถ้าไม่มีความดิ้นรนเพื่อบรรลุถึงพุทธภูมิ ท่านก็มัวคลำอยู่ในที่มืด ซึ่งไม่มีโอกาสพบได้เลยผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้นย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้ถ้าเราพบความผิดของบุคคลอื่นเราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกัน เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำต้องเอาใจใส่ เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเองในการที่จะไปรื้อค้นหาความผิด โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่นออกไปเสียจากสันดานเราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลสได้เป็นอย่างดีเมื่อใดความชังและความรักไม่กล้ำกลายใจของเรา
เราหลับสบาย"
หนทางที่ถูกต้องจึงเป็นหนทางของตนเองซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย เพราะถ้าเอาใจใส่พฤติกรรมของคนอื่น เราก็พ้นไปจากวิถีจิตและลืมพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตของตนเองโดยสิ้นเชิง การปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จนั้น พระวจนะของท่านจอมปราชญ์ ขงจื้อ น่าพิจารณาอย่างยิ่งซึ่งมีข้อความดังนี้
"จงยกโทษให้ผู้อื่นเยี่ยงเดียวกับที่ยกโทษให้แก่ตนเอง แต่จงลงโทษตนเองเฉกเช่นเดียวกับต้องการลงโทษผู้อื่น"ใครที่ปฏิบัติได้ เช่นนี้ย่อมเป็นผู้ที่เดินหนทางที่ถูกต้องด้วยตนเองอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น