วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 28

ตอนที่ 28.... ดินแดนแห่งอมิตาภะ
      พระพุทธองค์ตรัสย้ำให้ทรงปฏิบัติแต่ปัจจุบันกาลมากกว่าอดีตแลอนาคตกาลเพราะทั้งสองการเวลานั้นหาได้เกิดประโยชน์โภคผลแต่ประการใดไม่
รู้อดีตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
อนาคตที่มาถึงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจุบันกาลจึงเป็นตัวกำหนดอนาคตที่แท้จริงเพราะฉะนั้นการเอาใจใส่ต่อปัจจุบันจึงเป็นผู้ไม่ประมาท
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ตอบปัญหาของข้าหลวงอุ๋ยที่สงสัยว่าบรรพชิตและฆราวาสต่างเอ่ยพระนามของพระอมิตาภะโดยหวังว่าจะไปบังเกิดในดินแดนทางทิศตะวันตกอันเป็นดินแดนบริสุทธิ์ได้หรือไม่ว่า
"เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระสูตรที่กรุงสาวัตถีเป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า แดนบริสุทธิ์นั้นมิได้อยู่ไกลไปจากที่นี่เลย เพราะถ้าติดตามระยะทางเป็นไมล์ก็ได้ 108,000 ไมล์เท่านั้น ซึ่งความหมายที่แท้จริงของระยะทางนี้คือ อกุศล 10 และ มิจฉัตตะ 8 ภายใน ตัวเรานั่นเอง สำหรับพวกที่มีใจต่ำมันย่อมอยู่ไกลแสนประมาณ แต่สำหรับพวกมีใจสูงอยู่ใกล้นิดเดียว"
อกุศล 10 ประการนั้นเกิดจาก จิต ถึงสามประการคือ โลภ โกรธ หลง เกิดจากวาจา มีถึงสี่ประการคือ โกหก หยาบ นินทา และเพ้อเจ้อ และกายกระทำชั่ว สามอย่างคือ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยและผิดในกามตัณหา
      ส่วนมิจฉัตตะหมายถึงหนทางที่ตรงกันข้ามกับ มรรคมีองค์แปดคือมิจฉาปัญญา มิจฉาสมาธิ มิจฉาสติ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวาจา เป็นต้น
เพราะฉะนั้นในขณะที่คนมีปัญญาชำระใจของตนเองให้บริสุทธิ์เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า
"เมื่อใจบริสุทธิ์ดินแดนแห่งพระพุทธเจ้าก็บริสุทธิ์พร้อมกัน"
      แต่คนที่ไร้ปัญญาต่างพากันออกนามพระอมิตาภะและอ้อนวอนขอไปเกิดในแดนบริสุทธิ์ย่อมเป็นไปมิได้
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายอย่างแยบยลว่า
"แม้เป็นชาวตะวันออก ถ้าใจบริสุทธิ์ก็ย่อมเป็นคนไม่บาปแต่ต่อให้เนชาวตะวันตกเสียเองแต่ใจโสมมก็ไม่อาจช่วยให้เป็นคนหมดบาปได้ ถ้าในกรณีที่เป็นคนตะวันออกทำบาปแล้วอกนามพระอมิตาภะแล้วอ้อนวอนเพื่อให้ไปเกิดทางทิศตะวันตก แต่ถ้าคนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเอง เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนอีกเล่า"
"คนสามัญและคนโง่ไม่เข้าใจในธรรมญาณ และไม่รู้จักว่าแดนบริสุทธิ์มีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัวเอง ดังนั้นจึงปรารถนาไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง ทางทิศตะวันตกบ้าง แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็เหมือนกันทั้งนั้น ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสเอาไว้ว่า "เขาจะไปเกิดที่ไหนไม่สำคัญเขาคงมีความสุขและบันเทิงรื่นเริงอยู่เสมอ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"เมื่อใจบริสุทธิ์จากบาป ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้แต่มันลำบากอยู่ที่คนใจโสมมต้องการไปเกิดที่นั่น"
"สิ่งที่ควรทำเป็นข้อแรกก็คือ จัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นเมื่อนั้น ก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100,000 ไมล์ขั้นต่อไปเราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้เสร็จสิ้นก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8,000 ไมล์นั้นเราได้เดินผ่านทะลุไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปไหน ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งชัดในธรรมญาณอยู่เสมอ และดำเนินการตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว พริบตาเดียวเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบอมิตาภะอยู่ที่นั่น"
พระวจนะตรงนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเข้าถึงดินแดนอันบริสุทธิ์ถูกต้องนั้นอยู่ที่การบำเพ็ญให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณของตนเองเพียงสถานเดียวจึงเป็นการที่ตนเองอย่างแท้จริงตรงตามพระพุทธวจนะที่กล่าวว่า ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน
แต่ความเข้าใจของสาธุชนในสมัยปัจจุบันเชื่อว่า ผู้อื่นสามารถพาเราไปยังแดนบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงคลั่งไคล้ใหลหลงต่อผู้ที่มีวัตรปฏิบัติแปลกประหลาดมหัศจรรย์มากกว่าที่หันมาบำเพ็ญตเองโดยหวังผู้วิเศษเหล่านั้นจักนำพาเข้าไปสู่แดนสวรรค์โดยที่ตนเองมิต้องบำเพ็ญปฏิบัติแต่อย่างใด
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า
"ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้นท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปที่นั่นถ้าท่านเข้าใจหลักธรรมอันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด ก็จะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั่นด้วยลำพังการออกนามพระอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอเพราะหนทาง 108,000 ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น"
      หลักธรรมอันกล่าวถึงการไม่เกิดนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่งร่างกายสังขารมีวันเกิดจากพ่อแม่ แต่ธรรมญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มีวันเกิดเพระฉะนั้นจึงไม่มีวันดับ ความเข้าใจเช่นนี้ย่อมทำให้เข้าใจถึงการเวียนว่ายตายเกิดและหักวงจรของการเวียนว่ายเช่นนี้เสียได้
การหลุดพ้นไปจากการเวียนว่ายจึงมได้อยู่ที่การทำบุญแต่อยู่ที่การปฏิบัติตนเองให้พบสภาวะแห่งธรรมญาณอันเป็นธรรมชาติแท้ที่ไม่เกิดดับและที่ตรงนั้นในตัวเราจึงเป็นดินแดนแห่งอมิตาภะซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอมตะนิรันดรนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น