วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 17

ตอนที่ 17.... มหาปัญญา
                ไม่ว่ามนุษย์ถือกำเนิดมาจากฐานะแตกต่างกันอย่างไร ต่างก็มีปัญญาเท่าเทียมกัน แต่เวลาเปล่งอานุภาพกลับต่างกัน ที่เป็นดังนี้เพราะมีกิเลสบดบังจึงทำให้ดูเหมือนปัญญาแตกต่างกันดังนั้นบางคนจึงได้ชื่อว่า "ฉลาด" แต่บางคน "โง่เขลา" คนธรรมดาสามารถใช้ปัญญาแยกแยะ "ดีชั่ว" ออกจากกันได้แต่กลับติดตรึงอยู่กับ "ความดี" หรือบางคนติดอยู่กับ "ความชั่ว" ปัญญาจึงมิอาจเปล่งประกายอานุภาพออกมาได้อย่างเต็มที่       พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "มหาปรัชญาปารมิตาเป็นปัญญาอันใหญ่หลวงซึ่งเป็นของสูงสุดใหญ่ยิ่ง อยู่ในสภาวะที่ ไม่หยุด ไม่ไป และไม่มา" ปัญญาอันใหญ่ยิ่งนี้เมื่อเริ่มต้นคิด ไม่ว่าอานุภาพนั้นดีหรือชั่วก็ "ไม่หยุด" ที่จะตัดทิ้งไปเสีย เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้มีสติอยู่ในสภาวะเดิมที่ "ไม่ไป" และจึงไม่จำเป็นต้อง "มา"ถ้าเปรียบเทียบกับ "ปัญญาธรรมดา" เมื่อเริ่มต้นคิดสิ่งใดไม่ว่าดีหรือชั่วก็ไม่เคย "หยุด" และกลับคิดไปไกลจนกว่าจะรู้สึกตัว จึงสามารถดึงกลับมาอยู่ในสภาวะเดิม เพราะฉะนั้นมีคนเป็นจำนวนมากต้องตกไปสู่อบายภูมิเพราะไม่มี "สติ" ปล่อยให้ปัญญาความคิดพาตัวกระทำความชั่วจนกิเลสพอกหนาแน่นบดบังปัญญาเดิมแท้ที่ไม่อยู่ในภาวะดีหรือชั่ว
ความมีสติหยุดนิ่งพร้อมสำแดงศักยภาพตลอดเวลาที่มีผัสสะเข้ามากระทบ ปัญญานั้นสามารถแยกแยะได้ตลอด แต่อำนาจของปัญญาอันสูงสุดหรือที่เรียกว่า "ปัญญา" ย่อมมีอนุภาพยิ่งใหญ่ที่สามารถตัด "ความดี" หรือ "ความชั่ว ทิ้งไปได้ทันที เพราะเหตุนี้เองพระธรรมาจารย์ฮุ่ย- เหนิงจึงยืนยันว่า พระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ล้วนแต่ใช้ "มหาปรัชญาปารมิตา" ทำให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า ปัญญาอันสูงสุดเช่นนี้จึงสามารถตัดอุปาทาน ซึ่งยึด "ขันธ์ห้า" อันได้แก่ "รูป" เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ" ทิ้งไปได้ เมื่อขจัดความผูกพันกับขันธ์ได้เช่นนี้ภาวะเดิมแท้ของธรรมญาณจึง  เปล่งประกายออกมา โลภะจึงกลายเป็น ศีล โทสะจึงกลายเป็น สมาธิ โมหะจึงกลายเป็น ปัญญา
ความหมายอันแท้จริงกล่าวได้ว่า ภาวะเดิมแท้ของธรรมญาณมีความสำรวมเป็น "ศีล สมาธิ ปัญญา" พร้อมมูลอยู่แล้ว พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า ตามวิธีปฏิบัติของพระองค์นั้น ปัญญาดวงเดียวเท่านั้นสามารถสร้างความรอบรู้ถึงแปดหมื่นสี่พันวิถีเท่ากับจำนวนกิเลสที่ต้องใช้ปัญญาดับไป พระพุทธองค์ตรัสแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์จึงเริ่มต้นจาก "มหาปัญญาอันสูงสุด" ทั้งสิ้น ซึ่งมีอยู่แล้วครบถ้วนในธรรมญาณโดยไม่อาจแยกปัญญาออกจากธรรมญาณได้เลยผู้ใดเข้าถึงหลักธรรมปฏิบัติเช่นนี้จึงไม่มีอาการของความคิดเฉื่อยชาหรือท้อแท้ เพราะสภาวะแห่งธรรมญาณที่เป็นอิสระหรือไม่ติอยู่ในอารมณ์อันทำให้จิตทะเยอทะยานจึงเป็นการปล่อยให้ "ตถตา" อันเป็นธรรมญาณทำหน้าที่โดยการใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงไม่ตกอยู่ในภาวะผลักดันหรือแม้แต่ดึงดูดสรรพสิ่งภาวะเช่นนี้จึงเป็นการรู้แจ้งแทงตลอดถึงธรรมญาาณและบรรลุเป็นพระพุทธได้
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า การเข้าถึงสภาวะเช่นนี้ต้องเจริญด้วยปัญญาและศึกษาวัชรัจเฉทิกสูตรอันเป็นสูตรที่เปรียบประดุจดังเพชร สำหรับตัดกิเลสทั้งปวงและทำให้รู้แจ้งแทงตลอดใน "ธรรมญาณ" ผลดี แห่งการศึกษาพระสูตรนี้มีมากมายนัก และผู้ศึกษาพระสูตรนี้ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้อย่างลึกซึ้งก็คือผู้ที่มีปัญญาแก่กล้าและสามารถเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังพระสูตรนี้ก็จักเกิดความสงสัยและไม่เชื่อถือข้อความในพระสูตรนี้
ท่านได้เปรียบเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เสมือนหนึ่งฝนตกหนักในชมพูทวีป นครเมือง และหมู่บ้านย่อมไหลเลื่อนไปตามกระแสน้ำ เช่นเดียวกับใบอินผลัม แต่ถ้าฝนนี้ตกหนักในมหาสมุทรก็เหมือนกับไม่ได้รับผลกระเทือนแต่ประการใดเลย
นักศึกษาฝ่ายมหายานเมื่อได้สดับพระสูตรนี้ใจของเขาจะสว่างโพลงและทราบได้ด้วยปัญญาตนเองว่าปัญญานั้นมีอยู่ในธรรมญาณแล้วและเชื่อว่าตนเองไมม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎกก็สามารถใช้ปัญญาให้เป็นประโยชน์โดยข้ามพ้นฝั่งแห่งวัฏสงสารได้ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นนิจนั่นเอง
วิปัสสนาภาวนา มีความหมายถึง การใช้ปัญญาตัดกิเลสได้เสมอไป เช่นตัวอย่างแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว คุณสมบัติส่วนตัวอ่านหนังสือไม่ออกแต่ได้รับรู้พุทธจิตธรรมญาณของตนวันหนึ่งมีแม่บ้านคนหนึ่งมาซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 กิโลกรัม แต่ขอแถมถั่วงอก 2 กำมือ เต้าหู้ 2 ชิ้น และต้นหอม 10 ต้น
สิ่งแรกที่แม่ค้าคิดคือ แม่บ้านคนนี้โลภมาก แต่ตนเองเพราะรู้พุทธจิตธรรมญาณ ความคิดที่ตามมาคือ ถ้าไม่แถมให้แม่บ้านเราเองก็โลภเช่นกัน อยากขายน้อยๆ ได้เงินมากๆ แม่ค้าจึงใช้วิปัสสนาญาณตัดโลภของตนเองทิ้งไปจากการแถมให้ตามที่แม่บ้านขอและกระทำเช่นนี้ถึง 10 ครั้ง จนในที่สุด แม่บ้านจึงเกิดความละอายขอจ่ายเงินในครั้งที่ 11 อันเป็นผลของการตัดกิเลสความโลภของตนเองได้ด้วย  พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า ปัญญาที่มีอยู่ในธรรมญาณของคนเราเปรียบได้ดังฝน ซึ่งความชุ่มชื่นย่อมทำความสดชื่นให้แก่สิ่งมีชีวิตทุกๆ สิ่ง รวมทั้งต้นไม้พืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดถึงสรรพสัตว์ ดังนั้นเมื่อแม่น้ำและลำธารไหลไปถึงทะเล น้ำฝนที่มันพาไปอันผสมเป็นอันเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร
 แต่ถ้าฝนตกลงมาห่าใหญ่ ต้นไม้ที่รากหยั่งไม่ถึงพอย่อมถูกน้ำพัดซัดถอนรากลอยไปตามน้ำและสูญหายไป ในที่สุดไม่มีอะไรเหลือ จึงเปรียบได้กับคนปัญญาทึบเข้าใจอะไรได้ยาก พอได้ฟังคำสอนของชั้น "บรรลุฉับพลัน" ที่แท้จริง แม้ปัญญาของบุคคลประเภทนี้จักเป็นประเภทเดียวกับพวกปัญญาไว แต่เขาก็ไม่อาจทำตนให้ตรัสรู้ได้ในขณะที่ฟังธรรมะนั้น ที่เป็นดังนี้เพราะเขาถูกครอบงำด้วยคววามคิดผิดเห็นผิดซึ่งลงรากลึกเสียแล้วพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงเปรียบเทียบว่า เหมือนหนึ่งดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยเมฆไม่สามารถส่องแสงของตนออกมาได้จนกว่าจะมีลมมาพัดพาเมฆหมอกนั้นออกไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์จึงปรากฏฉันใดก็ฉันนั้นผู้บำเพ็ญจึงไม่อาจแบ่งแยกดูถูกผู้โง่เขลามีแต่เมตตาหาทางขจัดเมฆหมอกแห่งกิเลสของเขาออกไปเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น