วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 4

ตอนที่ 4....อนุตตรสัมมาสัมโพธิ
      ปัญญาอันวิเศษสุดย่อมพาตนเองพ้นไปจากวงเวียยนแห่งการเวียนนว่ายตายเกิด ทุกคนมีอยู่พร้อมแล้วเสมอกันมิแตกต่างกันเลยแม้แต่น้อย ในสมัยที่พระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณทรงเปล่งวาจายืนยันสัจธรรมข้อนี้ไว้ว่า "แปลกจริงหนอ เวไนยสัตว์ทั้งปวงต่างมีอนุตตรสัมมาสัมโพธิเหมือนกันหมดทุกคน ต่างกันแต่เพียงมีผู้รู้กับไม่รู้เท่านั้น"อนุตตรสัมมาสัมโพธิ จึงเป็นปัญญาสูงสุดที่ไม่มีสิ่งใดมาเทียบเคียงได้ แต่เพราะปุถุชนไม่รู้ถึงภาวะแห่งปัญญาอันสูงสุด จึงปราศจากศรัทธาในตัวเอง หนี้สินเวรกรรมที่สร้างไว้ จึงเป็นเสมือนเมฆหมอก บดบัง "ธรรมญาณ" ให้ถูกล่อหลอกและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ อายตนะหกได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชักจูงให้ลืมเลือน "ธรรมญาณ" อันแท้จริงมนุษย์จึงตกอยู่ในวังวนแห่งความหลงใหล และดูแคลนตนเอง
ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์หงเหยิ่น สังฆปริณายก ประกาศให้ศิษย์ทั้งปวงเขียนโศลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาวะที่เข้าถึง "ธรรมญาณ" ของตนจึงไม่มีใครแสดงความกล้าหาญ เพราะต่างเชื่อว่าหัวหน้าศิษย์นามว่าเสินซิ่ว ย่อมมีความสามารถ เหนือกว่าตน ขืนส่งโศลกเข้าประกวดย่อมไม่มีทางสำเร็จได้ ศิษย์ทั้งปวงจึงพากันกล่าวว่า "เราจะไปทำให้เหนื่อยเปล่าไปทำไม ต่อไปนี้คอยติดตามท่านเสินซิ่ว หัวหน้าของเราท่านไปทางไหนเราก็ตามไปทางนั้นก็พอแล้ว"
สัจธรรมข้อนี้ได้พิสูจน์ตัวเองมมาจนถึงยุคปัจจุบัน มนุษย์มิได้ศรัทธาในตัวเอง ขาดความเป็นอิสระไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาธรรมทั้งปวงให้เห็นถึงสัจธรรม แต่เชื่อฟังคำสอนชนิดที่ไม่มีวันโต้แย้ง ยึดถือคัมภีร์บุคคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่เชื่อว่าตนเองเป็นคัมภีร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้เอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่รู้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งตนมนุษย์จึงตกอยู่ในวิถีชีวิตสองประเภท คือ คอยติดตามผู้อื่น บูชาสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง และประเภทที่ไม่เชื่อถือสิ่งใดเลย ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีคัมภีร์ และไม่มีหนทางแห่งการหลุดพ้น คนทั้งสองประเภทนี้เดินอยู่บนหนทางสุดโต่งทั่งสองด้านซึ่งจัดว่าเป็นความหลงงมงายด้วยกันทั้งคู่ พึ่งสิ่งอื่นมิได้พึ่งตนเอง ดังนั้นจึงไม่อาจพ้นไปจากวัฏสงสารได้เลย สมัยพุทธกาล มีบุตรพราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง นามว่า วักกลิ หลงใหลในพระพุทธะสรีระ ติดตามพระพุทธเจ้าไปขอบวชอยู่ด้วยเพื่อจะได้ยลพระสิริโฉมมิได้ปฏิบัติสมณกิจใดๆ เอาแต่เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
วันหนึ่งพระพุทธองค์จึงทรงตำหนิว่า  "วักกลิ เธอจะเฝ้ามองร่างกายตถาคต หาประโยชน์อันใดมิได้เธอจึงไสหัวออกไป" พระวักกลิเสียใจที่หลงบูชาพระพุทธองค์ จึงกลับไปป่วยหนักและบ่นด้วยความน้อยใจอยากตายสถานเดียว พระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดว่า  "ผู้ใดดวงตาเป็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ไม่จำเป็นต้องเฝ้ามองดูแต่สรีระ ดวงตาไม่เห็นธรรม แม้เกาะจีวรตถาคตก็ได้ชื่อว่าไม่เห็นตถาคต"  พระวักกลิดวงตาเห็นธรรมในทันที หายป่วยและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง
ดวงตาเห็นธรรมจึงหมายถึงเป็นผู้รู้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิของตนเองและเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ บรรดาศิษย์ของท่านหงเหยิ่นจัดเป็นประเภทไม่เชื่อถือในตัวเองแต่ยึดถือเอาหัวหน้าศิษย์ เสินซิ่ว เป็นที่พึ่งซึ่งท่านเสินซิ่วรู้ดีว่าไม่มีใครกล้าเสนอตัวเข้ามาเป็นคู่แข่งขัน แต่ก็สงสัยในตัวเองยิ่งนักจะเขียนโศลกดีหรือไม่ ถ้าหากตนเองไม่เขียนไปถวายอาจารย์จะรู้ได้อย่างไรว่า ความรู้ทางธรรมของตนนั้นลึกซึ้งหรือผิวเผินเพียงใด ท่านเสินซิ่วสงสัยแม้เจตนาของตนเองว่าเจตนาแห่งการเขียนโศลกนี้ ถ้าทำไปด้วยความต้องการทราบธรรมะจากพระสังฆปริณายกก็เป็นเจตนาบริสุทธิ์ แต่ถ้าเขียนโศลก เพราะต้องการตำแหน่งพระสังฆปริณายกก็มีเจตนาชั่ว และเป็นการกระทำเยี่ยงโจรปล้นชิงบัลลังก์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระสังฆปริณายก ผู้ที่ไม่รู้จัก "ธรรมญาณ" แห่งตนจึงมีแต่ความคิดฟุ้งซ่านลังเลไม่แน่ใจแม้แต่ความคิดของตนเอง ความรู้ทั้งปวงไม่ว่าเป็นทางธรรมหรือทางโลกล้วนกลายเป็น "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" ด้วยกันทั้งสิ้น
 ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ท่านเสินซิ่วแม้เป็นหัวหน้าศิษย์และเป็นครูช่วยสอนธรรมะ จัดเป็นผู้ที่มีความรู้เหนือกว่าศิษย์ทั้งปวงแต่ก็ไม่แน่ใจในความรู้ยังข้องติดอยู่ในอารมณ์ของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจเขียนโศลกด้วยความยากลำบากนัก แต่ใครก็ตามที่รู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิ แห่งตนเขาไม่มีความลังเลหรือสงสัยเจตนาของตนเอง ความคิด และตัดสินใจเป็นไปอย่างอิสระเหนือข้อผูกมัดรัดตรึงใดๆ ทั้งสิ้น และนั่นเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์ด้วยตนเอง อันแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น