วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 43

ตอนที่ 43.... หนึ่งเป็นสองต้องมีทุกข์
      พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาหกปีค้นจนพบหนทางแห่งการดับทุกข์คือ "สายกลาง" ซึ่งมีทางปฏิบัติอยู่แปดประการเรียกว่า "อริยะมรรค" ใครประคองจิตให้อยู่ในจิตให้อยู่ในหนทางนี้ได้จักพ้นทุกข์อย่างแท้จริงโดยเริ่มต้นดังนี้
1. ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสัจธรรม
2. ความคิดที่ต้องการพ้นไปจากโลกีย์กรรม
3. การสำรวมวาจา
4. การกระทำที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
5. มีอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
6. มีความเพียรที่ถูกต้อง
7. มีสติถูกต้อง
8. มีสมาธิถูกต้อง
      "ทางสายกลาง" สามารถปฏิบัติได้ในมนุษย์เพียงแต่รักษาสภาวะจิตของตนเองให้เป็น "หนึ่ง" ความทุกข์ย่อมไม่เกิด แต่ปุถุชนเกิดความทุกข์ เพราะชอบเปรียบเทียบ จาก "หนึ่ง" จึงไปเป็น "สอง" เพราะฉะนั้นจึงมี "ดี" หรือ "ชั่ว" และจึงเกิด "ชอบ" หรือ "ชัง" พ้นไปจากทางสายกลาง ความวิตกทุกข์ร้อนจึงเกิดขึ้นไม่ว่าอยู่ในภาวะ "ต้องการ" หรือ "ไม่ต้องการ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายกรณีนี้ว่า "ทำไมเราจึงถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" มาเป็นผลที่จำนงหวังของเราเพราะเหตุที่มีคนเขลาบางประเภทได้โอ้อวดได้เห็นแจ้ง ธรรมญาณ แต่กำลังถูกอารมณ์ที่แวดล้อมลากเอาตัวไปวิตกต่างๆ เกิดขึ้นในใจของเรา ถูกแวดล้อมด้วยมิจฉาทิฏฐิอันเป็นกระแสแห่งความหลงและกิเลสทุกๆ ชนิด ทั้งนี้เพราะใน "ธรรมญาณ" นั้นไม่มีอะไรสำหรับให้ใครลุถึงเสียเลย ฉะนั้นการที่มาเอ่ยอ้างว่ามีการลุถึงและกล่าวพล่อยๆ ถึงความดีหรือความชั่วเหล่านั้นแล้วล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิและกิเลส เพื่อผลอันนี้เอง เราจึงได้ถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ว่าเป็นผลที่จำนงหวังของเรา"
      พระวจนะตอนนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า "ธรรมญาณ" ซึ่งเป็นตัวสำแดงความว่างไม่มีอะไรให้บรรลุถึง เพราะฉะนั้นตราบใดที่ภายในจิตใจยังวิตกหรือยินดีต่ออารมณ์ทั้งฝ่ายดีหรือชั่ว ย่อมเป็นหนทางแห่งความหลงโดยแท้เพราะสำคัญผิดคิดว่าตนเองสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เที่ยวคุยอวดหรือแสดงเป็นนัยให้คนอื่นรู้ว่าตนเองสำเร็จบรรลุธรรมแล้ว ความรู้สึกที่ผุดขึ้นในจิตเพียงนิดเดียวก็พอแล้วที่จะฉุดให้คนหลงเหล่านั้นลืมตัวและพ้นไปจาก "ทางสายกลาง" ของจิต
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้หนทางพ้นไปจากวิตกจริงทั้งปวงว่า
"การที่จะพ้นอำนาจของวิตก อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เราควรสลัดเสียให้สิ้นเชิง และอะไรเล่าที่เราควรปักใจของเราลงไปเราควรสลัด "ของที่เป็นคู่ๆ อย่างตรงกันข้าม" เสียให้สิ้นเชิงพร้อมทั้งอกุศลเจตสิกทุกๆ อย่าง"
ความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวคือ สิ่งที่เป็นคู่กัน เช่น ดี-ชั่ว สวรรค์-นรก สำเร็จ-ไม่สำเร็จ โง่-ฉลาด เพราะตราบใดที่ยังมีคู่ย่อมมีการเปรียบเทียบก่อให้เกิดอารมณ์จนบดบังธรรมญาณตราบนั้นย่อมพ้นไปจากความเป็น "หนึ่ง"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า
"เราควรปักใจของเราลงไปที่ภาวะแท้จริงของ ตถตา เพราะเหตุว่า ตถตา นั่นแหละเป็นตัวการแท้ของวิตก และวิตกเป็นผลแห่งการไหวตัวของ ตถตา"
"ตถตา" มีความหมายว่า มันคงมีสภาพเป็นอย่างนั้นเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะฉะนั้นมันจึงก่อเกิดสรรพสิ่งเพราะเป็นความว่างอันแท้จริง ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนเกียร์ของรถยนต์การที่สามารถขับเคลื่อนไปได้ เพราะมีเกียร์ว่าง หากปราศจากเกียร์ว่างเสียแล้ว รถยนต์ย่อมใช้ประโยชน์มิได้เลย
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงอธิบายว่า "ตัวแท้ของตถตา ซึ่งเบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหากที่ทำให้วิตกนั้นเกิดขึ้น หาใช่อวัยวะรู้สึกอารมณ์นั้นๆ ไม่ ตถตา ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณ์ของตัวมันเอง ฉะนั้นมันจึงสามารถให้กำเนิดแก่วิตก ปราศจากตถตา เสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์และอารมณ์นั้นๆ ย่อมสลายลงทันที เพราะเหตุที่คุณลักษณะของตถตาต่างหากที่ทำให้เกิดแก่วิตก ฉะนั้นอวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่างๆ ของเราไม่จำเป็นต้องด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วย ในทุกๆ เหตุการณ์แม้มันจะเป็นหน้าที่ใน การดู การฟัง การสัมผัส การรู้ ก็ตาม และตัวภาวะแท้ของเราก็อาจยัง "แสดงตัวเองให้ปรากฏได้" ทุกเวลา" เมื่อ ตถตา ขยับตัวด้วยสื่อสัมผัสใดๆ มากระทบโดยอาศัยช่องทางตา หู จมมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อให้เกิด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และ ธรรมารมณ์ ตัวการแท้จึงอยู่ที่ ตถตา มิได้อยู่ที่อวัยวะใดๆ หากปราศจาก ตถตา ก็เสมือนหนึ่งเวลาเรานอนหลับสนิท ควรมีแสดงอาการอย่างไรก็ไม่มีปฏิกริยาโต้ตอบ หรือ คนจีนที่ไม่รู้จักภาษาไทยแต่กลับถูกด่าด้วยภาษาไทยย่อมฟังไม่รู้เรื่องจึงไม่เกิดการโต้ตอบและมีอารมณ์โมโห ตัวอย่างเด็กทารกที่ยังไม่รู้ความ ใครจะด่าว่าอย่างไร อาการโต้ตอบก็ไม่ปรากฏ เพราะธรรมญาณ ยังมิได้เรียนรู้เป็นสัญญาขันธ์ว่า นั่นคือ คำหยาบคาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอารมณ์โกรธ
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงสรุปเอาไว้โดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งว่า
"พระสูตรจึงกล่าวว่า ผู้ที่คล่องแคล่วในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการเพื่อความเข้าใจอันถูกต้องได้ จักเป็นผู้ที่ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนใน ธรรมอันเอก" เพราะฉะนั้นการรักษาความเป็นหนึ่งของสภาวะจิตย่อมไม่มีการเปรียบเทียบจึงไม่เกิดทุกข์ แต่เมื่อใดมีสอง เมื่อนั้นความทุกข์ย่อมเข้าครอบงำทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น