วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 18

ตอนที่ 18.... เหมือนที่ต่าง
                คนเรามีความแตกต่างกันด้วยรูปลักษณ์ ความคิด และพฤติกรรม ที่เป็นดังนี้ เพราะปัจจัยสองอย่างคือ เวลา และ สถานที่ คนไหนเกิดเวลาเดียวกันต้องเป็นคนละเตียง คนไหนเกิดเตียงเดียวกันต้องคนละเวลา
                ความเหมือนกันเช่นนี้จึงสร้างความแตกต่างให้แต่ละคนเป็นหนึ่งเดียวในโลกเหมือนกันหมดเพราะต่างมีกรรมเป็นสมบัติของตน ดังนั้นฝาแฝดจึงไม่เหมือนกัน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวว่า แม้ร่างกายแตกต่างกัน แต่ปัญญาเหมือนเหมือนกันหมดทุกคน ข้อที่แตกต่างกันอยู่ตรงที่ว่า ใจของเขาสว่างไสวหรือมืดมนเท่านั้นเองคนที่ไม่รู้จักธรรมญาณของตนเองและมีความเห็นอย่าง โง่เขลาว่าการบรรลุพุทธธรรมมีได้ด้วยศาสนพิธีต่างๆ ที่ประพฤตทางกายภายนอกมิได้เกี่ยวข้องกับจิตเลย คนพวกนี้เข้าใจอะไรได้ยากส่วนคนที่เข้าใจคำสอนของ "นิกายฉับพลัน" และรู้สึกว่าพิธีรีตองต่างๆ ไม่เป็นของสำคัญ มีความคิดเห็นเป็นไปในทางที่เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ" อย่างเดียว คือมีความเห็นถูกต้องจนกระทั่งตนเองหลุดพ้นไปจากกิเลสมลทินต่างๆ อย่างเด็ดขาด คนจำพวกนี้แหละที่เรียกว่าเป็นผู้รู้จัก "ธรรมญาณ" ของตนแล้ว
ความหมายของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้ให้เห็นเป็นความจริงถึงพิธีต่างๆ มิได้ทำให้ใครพ้นจากความทุกข์ได้เลยเพราะพิธีการทั้งปวงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติด้วย "กาย" ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นสิ่งที่ "ติดยึด" ได้ง่ายกว่าสิ่งใดทั้งหมด ส่วนทาง "ใจ" นั้นเป็นเรื่องที่ปราศจากรูปลักษณ์จึงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติได้ เพราะเหตุนี้จึงชอบ "ทำบุญ" มากกว่าการ "บำเพ็ญจิต"
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงการปฏิบัติทางใจว่า "ขึ้นชื่อว่าใจแล้ว เป็นสิ่งที่ควรได้รับการจัดวางไว้ในกรอบของการปฏิบัติ โดยเป็นอิสระจากอารมณ์ทั้งภายในและภายนอก มีอิสระที่จะไปหรือจะมา ไม่ถูกพัวพัน และใสสว่างโดยทั่วถึงปราศจากสิ่งบดบังแม้แต่นิดเดียว บุคคลที่สามารถจะทำได้เช่นนี้จึงถือว่าดีถึงขนาดบัญญัติไว้ในสูตรทั้งหลายของ "ปัญญา"
ความหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือบรรดาคนเล่านี้จึงมีความสามารถในการให้อรรถาธรรมใดๆ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากพระสูตรต่างๆ ซึ่งพระอริยะเจ้าทั้งปวงได้บัญญัติไว้
ดังนั้นพระสูตรและปิฎกทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายมหายานหรือหินยานรวมทั้งคัมภีร์อรรถกถาทั้งสิบสองภาค ทั้งหมดถูกจำแนกไว้เป็นชั้นๆ เพื่อให้เหมาะกับความต้องการและอุปนิสัยของบุคคลผู้มีอินทรีย์ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นชั้นๆ นั่นเอง โอวาทที่มีสอนอยู่ในพระคัมภีร์ เหล่านั้นพระอริยะเจ้าบัญญัติขึ้นโดยยึดหลักสำคัญว่า มีตัวปัญญาแฝงอยู่ใในทุกคคนถ้าไม่มีคนก็ไม่จำเป็นต้องมีธรรมะด้วยเหตุนี้เราจึงทราบได้ว่าธรรมะบัญญัติขึ้นมาสำหรับคนโดยเฉพาะ
พระสูตรต่างๆ เกิดขึ้นโดยพระศาสดาผู้ประกาศสูตรนั้นๆ นั่นเอง เพราะเหตุที่คนบางพวกเป็นคนฉลาดซึ่งเราเรียกกันว่า "คนเด่น" และบางพวกเป็นคนโง่เขลา ซึ่งเราเรียกกันว่า "คนด้อย" ดังนั้นคนฉลาดจึงแสดงโอวาทแก่คนเขลา ในเมื่อเขาต้องการให้สอนด้วยการกระทำเช่นนี้เอง คนเขลาก็อาจลุถึงความสว่างไสสวด้วยความรวดเร็วได้และใจของเขาก็แจ่มแจ้งด้วยเหตุนี้ แล้วคนเขลาเหล่านั้นก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคนฉลาดอีกต่อไป
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงยืนยันว่า "ถ้าาเอาการตรัสรู้ออกเสียแล้วก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนสามัญอื่นๆ ความสว่างวาบเดียวเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ใครก็ได้กลายเป็นคนเสมอกันกับพระพุทธเจ้า"
      พระวจนะตอนนี้เป็นการยอมรับสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ว่าเหมือนกันเพราะ "ธรรมญาณ" เดิมมาจากที่เดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่างกันเลย เพราะสมัยที่พระพุทธเจ้าหรือพระอริยะเจ้าองค์ใดก็ตามที่ยังไม่ตรัสรู้อนุตตรธรรมก็ล้วนเป็นเช่นเดียวกับมนุษย์ธรรมดา
"ธรรมะเป็นของที่มีประจำอยู่ในใจของเราแล้ว จึงไม่มีเหตุผลในข้อที่ว่าเราไม่สามารถเห็นซึมซาบแจ้งชัดในสภาวะแท้ของ "ตถตา" สภาพที่มีแต่ธรรมญาณเช่นนั้นจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้" ทุกคนจึงมีโอกาสเห็นแจ้ง "ธรรมญาณ" เหมือนกันโดยพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้ยกเอาข้อความในโพธิสัตว์ศีลสูตรที่กล่าวเอาไว้ว่า "ธรรมญาณของเราเป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาดและถ้ารรารู้จักใจของเราเองและรู้แจ้งชัดว่าตัวธรรมชาติแท้ของเราคืออะไรแล้วเราก็จะบรรลุถึงพุทธภาวะได้ทุกๆ คน"หรือในข้อความในพระสูตร วิมลกิรตินิเทศสูตรก็ยืนยันกล่าวว่า "ทันใดนั้น เขาตรัสรู้แจ่มแจ้งสว่างไสว และได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา"
ความหมายตามข้อความนี้ก็คือ คนที่สู้รบปรบมือกับกิเลสของตนเองจนกำหราบได้หมดสิ้นแล้ว "ธรรมญาณ" เดิมแท้อันสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้วจักปรากฎขึ้นเองก็เสมือนหนึ่งตัวตนที่แท้จริงได้ปรากฎชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ถูกกิเลสครอบงำเอาไว้นานถึงหมื่นปี ธาตุแท้ของทุกคนเป็นหนึ่งเดียวแต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ กิเลสแต่คนมีกิเลสเหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างกันด้วยความหยาบละเอียด ดังนั้นในความเหมือนจึงมีความแตกต่าง และในความแตกต่างนั้นเองจึงมีความเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น