วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 15

ตอนที่ 15.... สัมมาปัญญา
      หนทางแห่งสัมมาปัญหาเท่านั้นจึงได้ชื่อว่าไม่เป็นผู้หลงมัวเมาต่อความชั่วทั้งปวง เพราะสัมมาปัญญาเกิดจาก สัมมาสมาธิความจริงแล้ว "ปัญญา" ไม่มีสภาวะแห่ง "สัมมา" หรือ "มิจฉา" เพราะเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมญาณของทุกคน แต่พอสำแดงอานุภาพออกมาย่อมเป็นไปตามปัจจัยเกื้อหนุนถ้าปัจจัยเป็นไปด้วยความชอบก็แสดงไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรมแต่ถ้าปัจจัยเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม อานุภาพที่สำแดงออกมาย่อมเป็นไปในทางที่ผิดเพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงยังมีผู้คิดผิดเห็นผิดไม่ตรงตามหลักสัจธรรม แม้ทุกคนมีภาวะแห่งปัญญามาแต่เดิมแล้วก็ตามที พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง กล่าวว่า ปัญญาทั้งหมดย่อมมาจากธรรมญาณและมีอยู่แล้วภายในมิได้มาจากวิถีแห่งภายนอกเลย เพราะฉะนั้นโดยตัวของมันเองย่อมเป็นประโยชน์ตามสภาวะอยู่แล้ว เพราะมันเป็น "ตถตา" ความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีเป็นอย่างอื่นและไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงสภาวะแท้จริงของมันได้เลยเพราะฉะนั้นใครเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมญาณเพียงครั้งเดียวเท่านั้นเขาก็เป็นอิสระจากความหลงทั้งปวงไปชั่วนิรันดร
ดังนั้นจึงไม่สมควรใช้ให้ทำงานเพียงนิดเดียว เช่นนั่งเงียบๆ ทำใจให้ว่างเฉยๆ เพราะเหตุที่ธรรมญาณมีรัศมีแห่งการทำงานกว้างขวางใหญ่หลวงนัก คนที่ใช้ปากพูดถึงความว่างโดยที่สภาวะแห่งจิตไม่เคยพบความว่างเลย จึงเปรียบเสมือนผู้ประกาศความเป็นใหญ่ด้วยปากแต่แท้ที่จริงเขาเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดาเท่านั้นเพราะฉะนั้นจึงไม่มีโอกาสเป็นผู้ใช้ปัญญาความหมายที่แท้จริง ท่านฮุ่ยเหนิงชี้ให้เห็นว่า ปัญญาจึงมิได้อยู่ที่การใช้พูดด้วยปากคนพูดเก่งมิได้หมายความว่าเป็นผู้มีปัญญาแท้จริงเพราะปัญญามิได้มาจากการพูดด้วยเหตุนี้เราจึงยังคงพบคนที่พูดด้วยความโง่ เขลา อวดฉลาดรอบรู้โดยที่ตนเองหารู้สิ่งใดไม่
การพูดเป็นเพียง ผลแห่งการใช้ "ปัญญา" ฉะนั้นจึงมิใช่ตัว "ปัญญา" ตามความหมายที่พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงเลย"ปัญญาหมายถึงความรู้แจ้งชัด เมื่อใดเราสามารถรักษาจิตไม่ให้ผูกพันด้วยตัณหาความทยานอยากที่โง่เขลาได้ทุกกาลแล้วไซร้ การกระทำทุกอย่างจึงเป็นไปด้วยปัญญา ในบัดนั้นจึงได้ชื่อว่ากำลังอบรมปัญญาให้เจริญงอกงามออกมา แต่ความรู้สึกที่โง่เขลาเพียงแวบเดียว ก็สามารถทำให้ปัญญาหายวับไป แต่มีความคิดที่ปรีชาฉลาดย่อมสามารถดึงปัญญากลับคืนมาได้อีก ดังนั้นใครที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาหรือความหลง ย่อมมองไม่เห็นปัญญาเพราะฉะนั้นจึงพูดถึงปัญญา ด้วยลิ้น แต่มิได้พูดด้วยใจเพราะภายในจิตยังเต็มไป ด้วยความงมงาย เช่นเดิม"
ในคัมภีร์ "คุณธรรม" ของท่านเหลาจื๊อ ได้กล่าวเอาไว้ว่า  "ผู้ที่เข้าใจคนอื่นชื่อว่าเป็นผู้รอบรู้ ผู้ที่เข้าใจตนเองจึงชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้ง"
ผู้รอบรู้อาจรู้สิ่งทั้งปวงนอกตัวเองมากมาย แต่เขาไม่อาจรู้จักจิตของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงมิใช่ปัญญาอันแท้จริงที่จะพาตัวเองให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือแก้ทุกข์ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นผู้รอบรู้เวลาเกิดทุกข์ต่างวิ่งเข้าหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะอยู่ ในรูปลักษณ์ของต้นไม้ รูปเคารพหรือวัตถุอื่นใด กราบไหว้อ้อนวอนขออิทธิฤทธิ์มาช่วยแก้ทุกข์ของตนเอง
แต่ผู้รู้แจ้งใช้ปัญญาของตนเองแก้ทุกข์ เขาเหล่านั้นจึงพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะดับทุกข์ที่ต้นเหตุเพราะทุกข์ที่จิต จึงดับเสียที่จิต
ส่วนผู้รอบรู้แต่ภายนอกจึงวิ่งไปหาปลายเหตุคือพยายามดับผลเพราะฉะนั้นจึงวุ่นวายและทุกข์หนักยิ่งขึ้น แม้เอาอิทธิฤทธิ์มาดับผลแห่งทุกข์ ก็เป็นเพียงชั่วครึ่งชั่วคราวในที่สุดก็ยังคงวิ่งวนอยู่ด้วยความทุกข์นั้นไม่สิ้นสุด คนเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า ผู้หลงงมงาย
พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวถึงคนเหล่านี้ว่า"เขาชอบพูดเสมอว่าประพฤติปัญญา และพูดถึงความขาดสูญไม่หยุดปาก แต่เขาไม่ได้พบหรือทราบถึงความว่างเด็ดขาดเลย หัวใจแห่งความรู้ชัดแจ้ง จึงถือเป็นตัวปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้รูปร่างไม่มีท่าทางให้สังเกตเห็น ดังนั้นถ้าเราตีความหมายของปัญญากันในทำนองนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นความรอบรู้แจ้งชัดของปัญญาตัวจริงอย่างถูกต้อง"ท่านขงจื๊อได้กล่าวถึงปัญญาเอาไว้ในคัมภีร์ทางสายกลางว่า
"ปัญญาเป็นสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด เมื่อได้ดำเนินกิจต่างๆ ไปตามปัญญาที่มีอยู่ในตัวเอง จึงเรียกว่า ธรรมะ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมะจึงเรียกว่าเป็น อารยธรรม
      ธรรมะเป็นสิ่งที่คนเราละทิ้งไปไม่ได้แม้ชั่วขณะเดียว ถ้าสิ่งใดที่ละทิ้งได้สิ่งนั้นจึงมิใช่ธรรมะ" เพราะฉะนั้น ปัญญาตามความหมายของท่านขงจื๊อจึงเป็นไปตามธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่งจากปัจจัยภายนอก ปัญญาชนิดเช่นนี้ย่อมแยกแยะ "ดี" และ "ชั่ว" ได้หรือรู้ถึง "นรก" หรือ "สวรรค์"
เมื่อแยกแยะได้เช่นนี้ย่อมนำพาตนเองพ้นไปจากความชั่วหรือนรก ด้วยตนเอง โดยมิต้องอาศัยสิ่งอื่นนอกตัวเองมาเป็นปัจจัยกำหนดเลย
      พระพุทธองค์ทรงตรัสพุทธภาษิตเอาไว้ว่า"อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ผู้ที่มีปัญญาตามธรรมญาณของตนเองเช่นนี้จึงได้ชื่อว่าเป็น "สัมมาปัญญา" เพราะสามารถหลุดพ้นไปจากทะเลทุกข์ได้ด้วยปัญญาอันชอบนั่นเอง
ตอนที่ 16.... กิเลสคือโพธิ
ชีวิตของมนุษย์ปุถุชนเสมือนลอยคออยู่ในมหาสมุทรซึ่งเต็มไปด้วยสายน้ำ โลภ โกรธ หลง คนที่ได้อาบดื่มกินน้ำเช่นนี้ล้วนติดใจและติดตรึงอยู่จนยากที่จะตัดความยากนั้นลงไปได้ง่ายๆสองฝั่งของมหาสมุทรนี้มีสภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงฝั่งขวาเป็นโลกโลกีย์ มี กิน กาม เกียรติ เป็นรสอร่อยใครได้ลิ้มรสจึงอยากตัดใจล้วนแต่เพิ่มความอยากให้มากยิ่งขึ้นไปอีกจึงมีภาวะเกิด-ดับไม่สิ้นสุดส่วนฝั่งซ้ายพ้นโลกีย์ไม่มี กิน กาม เกียรติ เป็นความว่างเปล่า ไม่มี เกิด-ดับ เป็นวิมุติสุขอันแท้จริง หาคนขึ้นฝั่งทางนี้ยากนักหนา
ผู้ที่ลอยคอในมหาสมุทรนี้ก็ถูกกระแสความโลภ โกรธ หลง พัดเข้าสู่ฝั่งขวาต่างแสวงหาการกิน หลงอยู่ในกามรสและติดเกียรติยศชื่อเสียงจนหมดลมหายใจแล้วก็ถูกเหวี่ยงลงไปสู่มหาสมุทรแห่งโลภ โกรธ หลง และไหลพัดเข้าสู่ฝั่งขวาต่อไป ปุถุชนเหล่านี้ตกอยู่ในอาการดีใจเสียใจไม่สิ้นสุดวนเวียนเช่นนี้โดยไม่รู้ตัวจึงเป็นความหลงอันร้ายกาจ  พระอาจารย์ฮุ่ยเหนิง กล่าวถึงการพ้นไปจากฝั่งแห่งการเกิด-ดับด้วยการตัดอุปาทานเสียให้เด็ดขาดอันหมายถึงการยึดถือในขันธ์ทั้งปวง ถ้าตัดได้ขาดสิ้นจึงพ้นจากภาวะเกิด-ดับ สงบเงียบเหมือนน้ำไหลนิ่ง อาการเช่นนี้แหละจึงทำให้ปัญญานี้ได้นามว่า "ปารมิตา" ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต การว่ายทวนกระแสโลภ โกรธ หลง จึงต้องใช้ปัญญาอย่างแท้จริงจึงสามารถข้ามสู่ฝั่งซ้ายอันเป็นวิมุติสุข แต่คนเป็นอันมากที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความหลงจึงท่องบ่น "มหาปรัชญาปารมิตา"ด้วยลิ้น แม้ขณะที่กำลังท่องอยู่ควรคิดงมงายอันเป็นกรรมชั่วก็เกิดแก่เขา แต่ถ้าสามารถปฏิบัติได้ด้วยจิตโดยไม่หยุดหย่อนย่อมรู้ชัดถึง "ตัวจริง" ของมหาปรัชญาปารมิตา การรู้ธรรมะเช่นนี้จึงเป็นความรู้ธรรมชาติของปัญญา เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้ปัญญาอันแท้จริงจึงได้ชื่อว่า พุทธะ แต่ผู้ที่มิได้ประพฤติด้วยปัญญาจึงเป็น ปุถุชน พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวว่า "คนสามัญธรรมดาคือพระพุทธเจ้าและกิเลสก็คือ โพธิ"ความหมายที่ท่านกล่าวเช่นนี้ ก็คือ คนทุกคนล้วนมีพุทธจิตธรรมญาณ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีโอกาสสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน หากเขาเหล่านั้นสามารถตัดกิเลสหมดสิ้นก็จักเกิดความสว่างไสวเช่นเดียวกับความรู้แจ้งของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
กิเลส กิน กาม เกียรติ ที่ผ่านเข้าออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนมีอิทธิพลทำให้เป็น ปุถุชนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อใดความคิดที่ทำลายความโง่เขลาเหล่านี้หมดสิ้นไป จึงทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า ความคิดที่ผ่านเข้าออกทำให้จิตคิดในอารมณ์นั้น คือ กิเลส แต่ความคิดที่มาเปลื้องธรรมญาณมิให้ติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นซึ่งเกิดทีหลังคือ โพธิ อันเป็นปัญญาแห่งการตรัสรู้นั่นเอง
 ถ้าไม่มีกิเลสย่อมไม่เกิดปัญญา  ถ้าไม่มีปุถุชนไหนเลยจักมีพระพุทธเจ้า ตัวอย่างของ องคุลิมาล ผู้เป็นบุตรของนางมันตานี พราหมณีถูกอาจารย์แห่งตักกสิลาหลอกลวงให้ฆ่าคนให้ครบพันคนจึงมอบวิชาวิเศษให้
ในครั้งนั้น องคุลิมาล ซึ่งเดิมมีนามว่าอหิงสกะ มีความหมายว่า ไม่เบียดเบียนใครได้กลายเป็นมหาโจรชั่วร้ายฆ่าผู้คนตัดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอจนชื่อเสียงเลื่องระบือทั่วกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล วันนั้นพระพุทธองค์เสด็จไปโปรด องคุลิมาล ดีใจเพราะขาดเพียงนิ้วเดียวก็ครบพันตามคำบัญชาของอาจารย์ แต่ออกแรงเดินตามพระพุทธองค์อย่างไรก็ไม่ทัน จึงร้องเรียกว่า สมณะหยุดก่อน""เราหยุดแล้ว ท่านซิยังไม่หยุด" พระพุทธองค์ตรัสตอบ "เอ๊ะ เราหยุดเดินแล้ว แต่ท่านยังเดินอยู่ไหนเลยบอกว่าหยุด" องคุลิมาล สงสัยจึงถามออกไป "เราหยุดเบียดเบียนชีวิตสัตว์ วางอาวุธแล้วตลอดไป ส่วนท่านยังไม่หยุดเบียนเบียนชีวิตสัตว์ ถืออาวุธล้างผลาญชีวิตผู้อื่น เราจึงได้ชื่อว่าผู้หยุด และท่านได้ชื่อว่ายังไม่หยุด"
องคุลิมาล มีรากฐานแห่งปัญญา พอได้สดับพระพุทธวจนะเช่นนี้ จึงได้เกิดสติปัญญา ความสำนึกชั่วตีกลับมาครอบครองจิตอีกครั้งหนึ่ง จึงวางอาวุธติดตามพระพุทธองค์มายังวัดพระเชตวัน และอุปสมบทเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา อันหมายถึงพระพุทธเจ้าบวชให้เอง และในที่สุดก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ตัวอย่างเช่นนี้จึงเป็นหลักฐานสนับสนุน วจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงที่กล่าวว่า คนธรรมดาเป็น พระพุทธะได้ในชั่วขณะจิตเดียวที่สำนึกจึงเกิด "มหาปัญญา" พาให้ชีวิตจริงคือ "ธรรมญาณ" ขององคุลิมาล พ้นไปจากมหาสมุทรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น