วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหว่ยหล่าง ตอนที่ 42

ตอนที่ 42.... ไม่ช้า-ไม่เร็ว
      การหมุนเวียนเปลี่ยนระบบสุริยจักรวาลก่อให้เกิดการเวลาอิทธิพลนี้ได้กำเนิด กลางวัน กลางคืน วัน เดือน ปี ชั่วโมง นาที และวินาที
เมื่อ "ธรรมญาณ" ลงมาสู่โลกนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกาลเวลาโดยที่ตัวเองหารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงแล้ว "ธรรมญาณ" มิได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กาลเวลาเปลี่ยนแปลง "ธรรมญาณ" มิได้ เพราะแต่เดิมมา "ธรรมญาณ" มีความสมบูรณ์พร้อมอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งอะไรเลย
"ธรรมญาณ" ทุกดวงในโลกนี้มีปัญญาเท่าเทียมกัน
      แต่ไฉนคนในโลกจึงมีโง่และฉลาด บางคน"ปัญญาทึบ" บางคนปราดเปรื่อง ปัญญานี้ พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิง ได้ให้อรรถาธิบายว่า
"ในพระพุทธศาสนาที่เป็นไปตามคัมภีร์ ความแตกต่างระหว่างนิกาย "ฉับพลัน" กับนิกาย "เชื่องช้า" มมิได้มีอยู่อย่างชัดแจ้งความแตกต่างเท่าที่เห็นกันอยู่ก็มีแต่เพียงว่า ตามธรรมชาติที่เกิดมาคนบางพวกรู้อะไรได้เร็ว ในเมื่อคนอีกบางพวกทึบต่อการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ พวกที่สว่างไสวก็สามารถเห็นแจ้งสัจธรรมได้ทันทีในเมื่อพวกที่อยู่ภายใต้อวิชชาจะต้องค่อยๆ ฝึกตัวเองต่อไป
แต่ความแตกต่างเช่นกล่าวนี้จะไม่ปรากฏเลย ถ้าหากเรามารู้จักธรรมญาณของตัวเอง และรู้แจ้งต่อสภาพแท้ของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นคำว่า "เชื่องช้า" กับคำว่า "ฉับพลัน" สองคำนี้จึงเป็นเพียงภาพเลือนๆ มากกว่าที่จะเป็นจริง"
      วจนะของท่านฮุ่ยเหนิงจึงยืนยันได้ชัดเจนว่า ทุกคนในโลกนี้มีสภาวะแห่งธรรมญาณเทท่าเทียมกันแต่ที่เกิดอาการแตกต่างกันเพราะ "อวิชชา" คือความไม่รู้จัก "ธรรมญาณ" และสภาวะแห่งความเป็นจริงของ "ธรรมญาณ" แห่งตน
ส่วนการรับรู้ที่ฉับพลันและเชื่องช้าเป็นเพราะอาการยึดมั่นถือมั่นแห่งจิตที่เวียนว่ายไปในสามภพสามภูมิ อารมณ์ดี-ชั่ว ได้นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานจนยากที่จะสลัดออกไปได้ ดังนั้นต่างจึงลืมเลือนสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ของตนเองเสียสิ้นความแตกต่างของมนุษย์จึงปรากฏขึ้นในโลกนี้
บาป เวร กรรม ที่ก่อขึ้นมาตามอารมณ์ชาติแล้วชาติเล่าจึงเป็นอวิชชาบดบังปัญญาเสียสิ้น ความรู้แจ้งในสัจธรรมจึงปรากฏช้า
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้หนทางแห่งการพ้นไปจากการติดยึดว่า
"ในการที่จะถือเอา "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" เป็นผลที่เราจำนงหวัง ถือเอา "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ และถือเอา "ความไม่ขัดติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตออันเป็นประธานสำคัญ"
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงได้อธิบายความหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
"ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์นั้นหมายถึงความไม่ถูกอารมณ์ดึงดูดเอาไว้ ในเมื่อได้สัมผัสกันเข้ากับอารมณ์
ความไมม่เป็นไปตามอำนาจของวิตกนั้นหมายถึงความไม่ถูกลากเอาไปโดยความคิดอันแตกแยกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่กำลังบำเพ็ญภาวนาทางจิต
ความไม่ข้องติด นั้นหมายถึงลักษณะเฉพาะแห่ง ธรรมญาณของเรานั่นเอง"
"ทุกสิ่งไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือน่าเกลียด ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด"
"ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง จงปล่อยให้อดีตเป็นอดีตถ้าเราเผลอให้ความคิดของเราที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาจับติดต่อกันเป็นห่วงโซ่แล้ว ก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง"
"ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเราข้องติดอยู่ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น เพื่อผลอันนี้เราจึงถือเอา "ความไม่ข้องติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตออันเป็นประธานสำคัญ"
      พระวจนะของพระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงชี้ให้เห็นว่า การข้องติดนั้นเป็นเพราะการเปรียบเทียบ ดี-เลว สวยงาม-น่าเกลียด อาการข้องติดของจิตจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากการเปรียบเทียบมองดูให้เห็นเป็นอย่างเดียวกัน อาการปล่อยวางจักปรากฏขึ้นภายในจิต
      พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า
"การดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกิเลสในทุกๆ ลักษณะของสิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรานี้เรียกว่า "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ใจของเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งใดๆ และในทุกกรณีเราไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมามีอิทธิพลครอบงำในการที่ใจของเราจะทำหน้าที่ของมัน แต่มันเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงในกาารบีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด เพราะแม้เราจะทำได้สำเร็จในการบังคับเช่นนั้น และเราดับจิตลงไปขณะนั้น เราก็ยังคงต้องเกิดใหม่ในภพ ใดภพหนึ่งอยู่ดี"
      บรรดาท่านที่ชอบนั่งหลับตาทำสมาธิแบบฤาษีชีไพรทั้งปวงควรนำวจนะข้อนี้ไปพิจารณาให้ดี เพราะท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้แจ่มชัดว่า
"บรรดาท่านผู้เดินทางทั้งหลายมันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียวสำหรับคนที่ทำอย่างผิดพลาดเนื่องมาจากไม่เข้าใจความหมายของธรรรมบัญญัติข้อนั้น แล้วมันจะเป็นความชั่วมากขึ้นไปเพียงใดอีก ที่ไปเร้าใจให้ผู้อื่นพากันทำตามเป็นบริวารของตน เมื่อหลงเสียแล้ว เขาก็มองไม่เห็นอะไรและยิ่งไปกว่านั้นเขายังแถมเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธวจนะอยู่ตลอดกาลเป็นนิจด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น